ราชมงคลพระนครประกาศ 3 นโยบาย สู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล

 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เดินหน้าจัดงาน RMUTP Go Digital : Student Activity Day พร้อม ประกาศ 3 นโยบาย และเปิดแอปพลิเคชั่น RMUTP Study life วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า จากนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ของภาครัฐบาล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในฐานะสถาบันการศึกษาของภาครัฐได้ปรับตัวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลมาเป็นเวลาระยะหนึ่งแล้วโดยร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศ ซึ่งในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์พณิชยการพระนคร) ทางมหาวิทยาลัยพร้อมจะประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลหรือ Digital University อย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่องาน RMUTP Go Digital : Student Activity Day โดยประกาศ 3 นโยบายหลัก ได้แก่

  1. การรณรงค์ให้นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกคนใช้ E-mail @RMUTP โดยคิดเป็นค่าเฉลี่ย 100 % เพื่อการติดต่อสื่อสารภายในมหาวิทยาลัยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจัดให้มีห้องเรียนแบบสมาร์ทคลาสรูม ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ทันสมัย เพื่อสร้างความชำนาญในการใช้ไอซีที อีกทั้งยังให้ความสำคัญด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มพูนทักษะการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21

 

  1. การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในสื่อการเรียนการสอน คือ มหาวิทยาลัยนำสื่อดิจิทัลหลายรูปแบบมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เช่น การนำระบบ google classroom,google drive, google calendar หรือ ระบบการจัดการการเรียนการสอน (learning management system) มาปรับใช้ และสนับสนุนให้อาจารย์พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ที่รองรับผู้เรียนจำนวนมากเข้ามาเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างยืดหยุ่น ทุกสถานที่ ทุกเวลา ซึ่งตอบสนองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning)
  2. การพัฒนาผู้ประกอบการภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา start up โดยใช้ระบบดิจิทัล เช่น website: ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบูรณาการจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม www.scurvehub.com สนับสนุนข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการ นักศึกษา และธุรกิจเอสเอ็มอีจากการแข่งขันเชิงราคา ไปสู่การแข่งขันเชิงการสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งผู้ประกอบการ s-curve ให้ประเทศไทยมีคลังทรัพยากรสารสนเทศเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ในรูปแบบดิจิทัลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและเรียกข้อมูลมาใช้ รวมถึงนำไปวิเคราะห์ต่อยอดได้อย่างสะดวก ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงไปของโลกและเป็นผู้ประกอบการที่ดีในโลกดิจิทัล

รศ.สุภัทรา เปิดเผยต่อว่า การพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร ไปสู่การเป็น “สังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพ” ด้วยการรับข้อมูลข่าวสารและบริการต่างๆ ที่เอื้ออำนวยทุกระดับ เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลาเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร โดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแก่บุคลากร และนักศึกษา ดังนั้นจึงมอบหมายให้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัย จัดอบรมให้แก่พนักงานทุกหน่วยงาน อาจารย์ ขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น RMUTP Study life เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับการใช้ระบบทรานสคริปกิจกรรม ซึ่งใช้เป็นระบบที่บันทึกการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

นอกจากนี้อีกหนึ่งการการันตีถึงการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล คือ ในปี 2559 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประกาศให้ราชมงคลพระนครที่มีความพร้อมในการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐานที่มีความเร็วสูงภายใต้ระบบ IPv6 (Internet Protocol Version 6) ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานของการก้าวเป็น Digital University ที่สมบูรณ์แบบในอนาคต