การบรรยายเรื่อง คณะนิเทศศาสตร์/สื่อสารมวลชนจะปรับการเรียนการสอนอย่างไรในยุค disruption

อาจารย์อรรถการ สัตยพาณิชย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นประธานในการจัดเสวนาปริทัศน์ โดยได้รับเกียรติจากรศ.จุมพล รอดคำดีประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.และอดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ บรรยายเรื่อง “คณะนิเทศศาสตร์/สื่อสารมวลชนจะปรับการเรียนการสอนอย่างไรในยุค disruption” เพื่อทราบถึงทิศทางการของสื่อมวลชนในปัจจุบันและเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหาร อาจารย์และเจ้าหน้าที่สู่ยุค 4.0 ณ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561

เรียบเรียงโดย อ.อรรถการ สัตยพาณิชย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสื่อในบ้านเราเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก การลดจำนวนลงของวิทยุชุมชนกว่าครึ่ง และการปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะสื่อนิตยสารหลายฉบับที่มีความเป็นมายาวนาน แต่ไม่อาจทานทนต่อสื่ออินเทอร์เน็ต สื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีเนื้อหาในด้านบันเทิงให้เข้าถึงได้อย่างหลากหลาย จนแทบไม่จำเป็นต้องซื้อนิตยสารในแนวนี้มาอ่าน

แต่ “วาทะ” ที่ดูเหมือนจะกระตุกต่อมคิดให้สถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนได้มาฉุกคิดกันในเรื่องหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างมากคือ คำพูดของ คุณดำรง พุฒตาล ที่กล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับการอำลาแผงของนิตยสารคู่สร้างคู่สม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ไว้ว่า “ผมจะห้ามลูกเรียนนิเทศศาสตร์!!!”

สื่อฯต้องให้ความสำคัญกับ “ความถูกต้อง” และ “เจาะลึก”

ผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา นับเป็นปีแรกในหลายสิบปีที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ใช่คณะที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของผู้สอบสายศิลป์ แต่คณะที่ผู้สอบสายศิลป์เลือกเป็นอันดับ 1 เป็นคณะนิติศาสตร์ ส่วนอันดับรองลงมาเป็นสาขาวิชาทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และบริหารธุรกิจ

จากประสบการณ์ของ อาจารย์จุมพล ทั้งในฐานะนักวิชาการ นักวิชาชีพ และในวันนี้ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รวมทั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในอีกหลายๆ คณะในหลายหน่วยงาน ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อมาอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์จุมพลเล่าว่ายังเคยพูดเมื่อ 4 ปีที่แล้วว่า ระวังบัณฑิตนิเทศศาสตร์จะตกงาน!!!

แม้ว่าวันนี้ทุกคนจะสามารถ Live สดผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อสื่อสารไปยังสาธารณชนได้ง่ายขึ้น และในบางเหตุการณ์ยังรายงานได้เร็วกว่าสื่อมวลชน แต่สิ่งที่อาจารย์จุมพลชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างสื่อมวลชนกับสื่อที่เผยแพร่โดยประชาชนก็คือ ความรับผิดชอบ เพราะการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของประชาชนแทบจะไม่มีการควบคุมความเหมาะสมในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารของตนเอง (Self Censorship)

อาจารย์จุมพลได้ให้ความรู้ว่าถ้ามองสื่อดั้งเดิมที่เป็นสื่อเพื่อสังคม และทำหน้าที่คล้ายสื่อสังคมออนไลน์ในยุคนี้ ก็จะนึกถึงสถานีวิทยุ จส.100 เนื่องจากทุกคนสามารถรายงานข่าวสารการจราจร และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมได้ แต่อย่างไรก็ตาม จส.100 ก็ยังคงมีผู้ดำเนินรายการเป็น Gatekeeper ที่ช่วยพิจารณาความเหมาะสมในการรายงานของผู้ที่ Phone in เข้ามา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาจนเกิดสื่อโซเชียลมีเดียขึ้น ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำได้ไม่ยาก และสามารถส่งในวงกว้างได้ง่ายขึ้น

คำถามก็คือ สื่อมวลชนในยุคที่ทุกคนสามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้โดยอิสระ จะต้องทำอย่างไร?

อาจารย์จุมพลแสดงความคิดเห็นว่า สื่อมวลชนจะต้องให้ความสำคัญกับ “ความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร” และต้อง “เจาะลึก” พร้อมทั้งให้แนวทางการแก้ไข เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ชุมชนแห่งหนึ่งก็ควรจะบอกถึงสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ และอาจแสดงให้เห็นสถิติการเกิดเพลิงไหม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นอกจากนี้อาจแนะนำแนวทางการป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ด้วย เป็นต้น สื่อมวลชนจึงต้องทำหน้าที่ทั้งการอธิบายให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประชาชนได้รับผลกระทบอะไร และอะไรคือสิ่งที่ช่วยเพิ่มพูนสติปัญหาให้แก่ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในฐานะผู้รับสาร

สิ่งเหล่านี้สะท้อนกลับไปยังหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่จะต้องปรับตัว โดยเฉพาะการเลือกนำเสนอ หรือวิธีการสื่อสารอย่างไรให้ง่าย และให้เกิดความประทับใจกับกลุ่มผู้รับสาร อาจารย์จุมพลบอกถึงเกณฑ์คัดเลือกคนเข้าทำงานในองค์กรที่อาจารย์รับผิดชอบว่าจะพิจารณาโดยใช้หลัก One Person-Multi skill หรือหนึ่งคนจะต้องมีทักษะในการทำงานที่หลากหลาย และต้องเข้าใจผู้รับสารด้วย

ต้องเข้าใจแพลตฟอร์มสื่อมากขึ้น

การเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนทุกวันนี้ อาจารย์จุมพลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแบ่งสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือการใช้ประเภทของสื่อมาแบ่ง แต่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของหลักการวารสารศาสตร์ที่ละเลยในการสอนไม่ได้มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ ความสามารถในการถ่ายทอด 1) ตัวอักษร 2) เสียง และ 3) ภาพ โดยเฉพาะการสื่อสารจะต้องมีสามารถในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารในลักษณะตัวอักษรให้เข้าใจง่าย ถ่ายทอดเสียง และภาพได้อย่างน่าสนใจ และการนำเทคนิคการเล่าเรื่องหรือ Story Telling มาใช้ ก็เป็นสิ่งอีกสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็น

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเข้าใจธรรมชาติของสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ๆ แม้ผู้เรียนทางด้านนี้จะมีความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารได้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามรู้ว่าธรรมชาติของผู้อ่าน Line หรือ twitter ไม่ต้องการอ่านอะไรยาวๆ เนื้อหาที่ใช้สื่อสารก็ต้องสั้น กระชับ และตรงประเด็น ดังนั้นผู้สื่อสารจึงจำเป็นต้องเข้าใจข้อจำกัดของแพลตฟอร์มสื่อแต่ละประเภท

อีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจารย์จุมพลฉายภาพให้เห็นก็คือ สมัยก่อนคนเรารับชมหนังยาวๆ ประมาณ 3 ชั่วโมงได้ เพราะไม่มีทางเลือก แต่ทุกวันนี้โลกของสื่อเปลี่ยนไป คนเรามีทางเลือกในการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิงได้มากขึ้น ระยะเวลาที่ใช้ในการรับชมก็ไม่จำเป็นต้องยาวนานเหมือนในอดีต ตัวอย่างเช่น คนดูใน YouTube เวลาที่เหมาะสมในการเปิดรับสื่อประเภทนี้อยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งการที่คนเข้าไปดูหนังใน YouTube กันมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบให้คนยุโรปเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์น้อยลง จนเจ้าของโรงหนังถึงกับมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาวิธีการดึงคนเข้ามาดูหนังในโรงหนังกันอีกครั้ง

นอกจากนี้ Netflix ผู้ให้บริการหนังออนไลน์ถึงขั้นเจรจากับ Sony และบริษัทหนังในฮอลลีวูดให้ผลิตหนังป้อน Netflix โดยระบุความต้องการหนังในปีนี้สูงถึง 4,000 เรื่อง มิหนำซ้ำยังระบุดาราที่ต้องการให้แสดงอีกด้วย

ต้องสอน นศ.นิเทศศาสตร์ให้สอดคล้องกับยุคสมัย

อาจารย์จุมพลแนะนำว่าการสอนวิชาการรายงานข่าวจะต้องเน้นในเรื่องข่าวเจาะ ข่าวสืบสวนสอบสวน หรือ Investigative Report มากขึ้น ต้องสอนให้นักศึกษารู้จักวิธีการศึกษาค้นคว้า หาหลักฐานมายืนยันความน่าเชื่อถือให้ได้อย่างหนักแน่น ไม่ใช้วิธีการถามคนนี้ เพื่อให้อีกคนตอบ ที่สำคัญต้องสอดแทรกให้เห็นถึงการให้ความรู้ การเพิ่มพูนสติปัญญาแก่ผู้รับสาร เช่น ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จแบบน้องเมย์ ในฐานะนักแบดมินตันระดับโลกจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น

วิธีการรายงานข่าวจึงต้องทำให้มีความแตกต่างจากผู้ที่ไม่เคยได้เรียนทางด้านนี้มาก่อน และต้องสอนให้ผู้เรียนรู้จักเก็บข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเอียด อีกทั้งยังต้องกระตุ้นให้นักศึกษารู้จักแสวงหาความรู้ให้มากกว่าในอดีต เนื่องจากสื่อมวลชนเป็นงานที่ต้องใช้สติปัญญาสูงมาก ซึ่ง UNESCO ก็ยังเคยกล่าวถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนว่าต้องมีมาตรฐานที่สูงกว่าคนปกติ ดังนั้นสื่อมวลชนต้องชี้ให้เห็นได้ว่า ถ้าถูก-ถูกอย่างไร ถ้าผิด-ผิดอย่างไร นอกจากนี้ อาจารย์ผู้สอนยังจะต้องรู้จักหาประเด็นทางสังคมมาให้นักศึกษาได้รู้จักวิเคราะห์ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก็มีการปรับเปลี่ยน โดยให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มากขึ้น เพราะคนทุกวันนี้ใช้สื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาหรือ Content Based โดยมีกองบรรณาธิการกลางที่รวมทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกันคิดประเด็นเนื้อหาด้วยกัน ซึ่งความเป็นสื่อสาธารณะจะแตกต่างจากสื่อทั่วไปตรงที่มุ่งเน้นการสื่อสารเพื่อเข้าถึงคนทุกกลุ่ม กลุ่มใดที่สื่อในเชิงธุรกิจไม่สนใจ แต่สื่อสาธารณะจะต้องไม่มองข้าม ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาคนด้อยโอกาส ปัญหาคนในชุมชนแออัด แม้กระทั่งปัญหาของคนรวยก็ต้องนำมาถ่ายทอดเพื่อเป็นบทเรียน สังคมประชาธิปไตยจะปล่อยคนที่ด้อยโอกาส หรือมีความสามารถต่ำให้อยู่ข้างหลังไม่ได้

อาจารย์จุมพลกล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า สื่อจะทำหน้าที่เป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ไม่ได้ แต่จะต้องทำหน้าที่วิเคราะห์ ชี้แนะแนวทางให้แก่ผู้รับสาร

กรณีศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตร์ในต่างประเทศ

หลักสูตรนิเทศศาสตร์ของ USC Annenberg School for Communication and Journalism ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านการสื่อสารและวารสารศาสตร์ (School of Communication and a School of Journalism) ของ University of Southern California มีวิชาน่าสนใจที่เปิดสอน เช่น วิชา Rhetoric and the Public Sphere ซึ่ง Public Sphere ก็คล้ายกับสภากาแฟ เป็นการนำเรื่องที่มีการสนทนาบ่อยๆ อันสะท้อนให้เห็นความสนใจของสังคมมาบรรจุในหลักสูตร เพื่อชี้ให้เห็นว่าวิชานี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานด้านสื่อสารมวลชนได้ นอกจากนี้ยังมีวิชา Health Communication วิชา Intercultural Britain: Media, History and Identity วิชา Video Games: Content, Industry, and Policy วิชา Censorship and the Law: from the Press to Cyberspace วิชา Issues in Contemporary Sport เป็นต้น

อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งคือ University of Mississippi มีโรงเรียนที่เปิดสอนด้านวารสารศาสตร์และสื่อใหม่ภายใต้ชื่อ The Meek School of Journalism and New Media มีวิชา New Media Journalism Politics in the Trump Era เกิดขึ้น เพราะสังคมอเมริกันเกิดความแคลงใจประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักจะให้ข่าวตำหนิสื่อมวลชนว่าไม่มีคุณธรรม มีความเอนเอียง ซึ่งวิชาในลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในสหรัฐอเมริกา

หลักสูตรนิเทศศาสตร์ในปัจจุบันจะต้องยืดหยุ่นสูง แต่เนื้อหาวิชายังต้องมีสาระ มีแก่นสาร (substance) แม้หลักการพื้นฐานของการเรียนวารสารศาสตร์จะยังคงเน้นการเขียน การรายงานข่าว และจริยธรรมในความเป็นวิชาชีพ แต่ความเข้าใจวิธีการสื่อสารผ่านตัวอักษร เสียง และภาพก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น และสิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ การเสริมสร้างความสามารถในการวิเคราะห์เนื้อหา อันเกิดจากการที่เหตุการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังจะต้องมีการใช้ภาษาให้สอดคล้องกับธรรมชาติของสื่อแต่ละประเภท และอีกหนึ่งวิชาที่ควรเปิดสอนคือ วิชาการเล่าเรื่องหรือ Story Telling ซึ่งการเล่าเรื่องจะเล่าแบบยาวหรือเล่าแบบสั้นนั้น ก็ขึ้นกับประเภทของสื่อ

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ในต่างประเทศ นอกจากเริ่มไม่มีการแบ่งสาขาวิชาแล้ว ยังมีการสอนวิชาที่รองรับสื่อใหม่ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการสื่อสาร เช่น วิชา Mobile Journalism (MOJO) วิชา Backpack Journalism ฯลฯ โดยใช้สมาร์ทโฟนในการรายงานข้อมูลข่าวสาร ซึ่งปัจจุบันคุณภาพของกล้องมีความคมชัด และสามารถตัดต่อได้จากโปรแกรมในเครื่อง

People is the King-Content is the Queen

สื่อแต่ละประเภทต้องมีการแบ่งส่วนตลาดหรือ Segmentation โดยเฉพาะสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์จะมีแนวโน้มเป็น Niche Channel มากขึ้น นอกจากนี้ยังจะต้องเข้าใจพฤติกรรมการเปิดรับสารของคนแต่ละวัย อาจารย์จุมพลกล่าวถึงงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า คนอายุ 15-25 ปี มักจะไม่สนใจในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารในรูปแบบที่ตายตัว และถ้าจะดูหนังก็ไม่ต้องเข้าไปดูในสื่อโทรทัศน์หรือโรงหนัง เพราะสามารถรับชมย้อนหลังใน YouTube ได้

อย่างไรก็ตาม สื่อดั้งเดิมบางประเภทก็ยังอยู่ได้ อย่างเช่น สื่อวิทยุ ในยุโรปยังมีผู้ฟังสื่อวิทยุเป็นอันดับ 1 แม้การใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์คนจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่สื่อวิทยุก็ยังตอบโจทย์ในเรื่องความรวดเร็ว ประจักษ์พยานในแง่ประโยชน์ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ เหตุการณ์ที่เกิดพายุเฮอริเคนในฟลอริดา สหรัฐอเมริกา สื่อวิทยุช่วยลดการสูญเสียชีวิตของประชาชนได้เป็นจำนวนมาก สื่อประเภทนี้จึงยังเหมาะที่เข้ามาช่วยในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ หรือเกิดเหตุการณ์เร่งด่วน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี นอกเหนือไปจากการที่สื่อวิทยุ สามารถขับรถไปด้วย ฟังไปด้วยได้ อาจารย์จุมพลคาดการณ์ว่าความนิยมในสื่อวิทยุจะคงอยู่จนกระทั่งรถยนต์มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่สามารถขับเคลื่อนได้โดยไม่ต้องใช้คนขับ และเมื่อนั้นคนก็จะเปลี่ยนไปรับชมสื่อแพร่ภาพ อย่างทีวี หรือดูหนังระหว่างนั่งรถยนต์แทนสื่อวิทยุ

ในสหรัฐอเมริกา รายการวิทยุที่ยังมีคนฟังจะเป็น รายการจราจร รายการพยากรณ์อากาศ รายการข่าว และรายการเพลง ซึ่งบางสถานีฯ จะมีการรายงานข่าวตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้คนเห็นพัฒนาการของเหตุการณ์ในข่าวได้ชั่วโมงต่อชั่วโมง

ความเชื่อที่เคยรับรู้กันว่า Content is the King อาจารย์จุมพลแย้งว่าสิ่งที่ถูกต้องก็คือ การเข้าใจประชาชนในฐานะผู้รับสารเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าเนื้อหา จึงมีคำกล่าวว่า “People is the King-Content is the Queen” อาจารย์จุมพลมองว่าในกรณีของทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง บางช่องที่ไปต่อไม่ได้ก็เพราะไม่ได้แข่งขันในเรื่องของการสร้างความแตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างในด้านเนื้อหา แต่จะแข่งขันกันในเรื่องความรวดเร็ว แต่ไม่มีการเสริมสร้างสติปัญญาให้ผู้รับสาร ไม่มีหลักฐานอ้างอิง และไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการมาสนับสนุน

อาจารย์นิเทศศาสตร์ต้องทำวิจัยมาใช้ในการเรียนการสอน

ด้วยพันธกิจในการผลิตบัณฑิตของอาจารย์ และการวิจัยก็เป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่ควรทำควบคู่กัน โดยเฉพาะการวิจัยที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน อาจารย์จุมพลเล่าประสบการณ์ในการวิจัยเกี่ยวกับแหล่งน้ำในภาคอีสานที่พบว่าเจ้าของโฉนดที่ดินมักเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะในภาคอีสานมีความเชื่อว่าผู้ชายแข็งแรงกว่า และมีความสามารถในการทำมาหากินมากกว่าผู้หญิง พ่อแม่จึงมักจะยกที่ดินให้ลูกสาว บทเรียนจากการวิจัยดังกล่าวสามารถนำมาสอนนักศึกษาให้เห็นความสำคัญของการเข้าใจประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ อาจารย์จุมพลยังให้ความสำคัญในเรื่องมุมมอง ความรู้ของโลกตะวันออก (East View) ที่ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อมาคานกับมุมมองความรู้ของโลกตะวันตก (West View) โดยอาจารย์ผู้สอนจะต้องไม่ละเลยการแสวงหาความรู้ใหม่ในทุกรูปแบบ และในส่วนบทบาทที่มีต่อสังคม อาจารย์จะต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชที่จะเข้าไปสอนให้ประชาชนที่ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์สื่อสารไม่เป็น ให้สามารถนำมาใช้ในการสื่อสารได้

แม้ว่าทุกวันนี้คนจะมีอิสระเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่อาจารย์จุมพลเห็นว่าข่าวสารก็จะถูกตรวจสอบและกำกับจากคนในสังคมมากกว่าการกำกับโดยองค์กรวิชาชีพ เพราะถ้านำเสนอข้อมูลข่าวสารอะไรออกไปแล้วพบว่าไม่ถูกต้อง การตรวจสอบก็จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อมีการแชร์ข้อมูลข่าวสารก็ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดชอบ

สิ่งที่อาจารย์จุมพลฝากทิ้งท้ายไว้ให้อาจารย์ และสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชนไว้คิดต่อ กับประโยคที่ว่า คนทำสื่อในยุคนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่การสร้างสื่อมืออาชีพให้เกิดขึ้นในวงการสื่อสารมวลชนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ในฐานะเป็นครูบาอาจารย์นับเป็นโจทย์ที่ต้องนำไปลงรายละเอียด และคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร

แต่ก็เชื่อว่าถ้าเมื่อใดก็ตาม อาจารย์ และผู้รับผิดชอบหลักสูตรสามารถตอบแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน และเป็นการตอบได้อย่างเสียงดัง ฟังชัด เมื่อถึงเวลานั้นก็ไม่จำเป็นต้องมาตั้งคำถาม “แล้วต่อไปใครจะเรียน “นิเทศศาสตร์” ???” กันให้รกสมอง….