โครงการในพระราชดำริ ค่ายความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลุยสำรวจแหล่งน้ำ บุกป่าบนเขาเขียว-เขาชมพู่

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี ม.ราชมงคลพระนคร เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ระดับอุดมศึกษา โดยมีผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า เป็นผู้กล่าวรายงาน กิจกรรมจัดในระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2560 ณ พื้นที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ดำเนินโครงการโดยกองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า

ในการนี้ ได้รับความสนใจจากนักศึกษา ทั้ง 9 คณะ รวม 40 คนมุ่งหน้าจากเทเวศร์สู่จังหวัดชลบุรี โดยมีปลายทางอยู่ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อ.ศรีราชา และเมื่อถึงที่นั่น นักศึกษาก็ได้พบกับเพื่อนใหม่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่จะได้ร่วมกันศึกษา และสำรวจทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน

ภายในโครงการ นักศึกษาได้รับฟังการบรรยายเรื่องโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดย ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
ภายหลังฟังการบรรยายเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโลก นักศึกษาก็แยกย้ายกันประจำกลุ่ม 6 กลุ่ม แบ่งเป็น

1. นิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ
2. ความหลากหลายของพืชพรรณ ในพื้นที่เขาเขียว-เขาชมพู่
3. แมลงและสัตว์ขาปล้อง
4. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
5. ความหลากหลายของปักษาพรรณ
6. ทรัพยากรไทยกับงานวิจัยและการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับความอนุเคราะห์คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย และมีพี่เลี้ยงจากองค์การสวนสัตว์ และจาก อพ.สธ.ในแต่ละกลุ่มต่างแยกย้ายกันไปศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ในน้ำ จนถึงบนเขา ในพื้นที่เขาเขียว – เขาชมพู่ ด้วยกิจกรรมความรู้เข้มข้นแบบจัดเต็ม แต่แม้จะเป็นนักศึกษาสายสังคมศาสตร์ก็สามารถเข้าใจได้โดยง่าย

กลุ่มศึกษานิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการสำรวจแหล่งน้ำ การใช้เครื่องมือสำรวจคุณภาพน้ำ วิธีการเก็บตัวอย่างจากแหล่งน้ำ และนำตัวอย่างนั้นมาวิเคราะห์ โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์ นักศึกษาได้รับความรู้ว่า ในแหล่งน้ำที่สะอาด และแหล่งน้ำเสีย มีจุลชีพในน้ำแตกต่างกันอย่างไร และจุลชีพในแหล่งน้ำที่ตาเปล่ามองไม่เห็นนั้น ส่งผลอย่างไรต่อสิ่งมีชีวิตรอบแหล่งน้ำนั้น ไม่ว่าจะเป็นปลา ต้นไม้ ไปจนถึงนกและสัตว์ที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น

กลุ่มความหลากหลายของพืชพรรณกับทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่เขาเขียว เขาชมพู่ นักศึกษาได้เดินขึ้นเขา สู่พื้นที่ป่าที่แท้จริง เรียนรู้การสำรวจ การจัดทำแผนที่ต้นไม้ การวัดขนาดต้นไม้ การเก็บตัวอย่างพรรณไม้เพื่อนำมาศึกษาต่อ ทำให้นักศึกษาทราบว่านอกเหนือจากการสตัฟสัตว์เพื่อศึกษาแล้ว ก็ยังมีการเก็บรักษาตัวอย่างของต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น ใบ ดอก ผล โดยวิธีการอัดแห้ง ซึ่งช่วยให้สามารถเก็บตัวอย่างได้นานนับสิบปี

กลุ่มแมลงและสัตว์ขาปล้อง นักศึกษาได้เรียนรู้ว่าแมลง สัตว์ที่ไม่ค่อยมีใครรักมากนัก มีประโยชน์อย่างไรต่อระบบนิเวศ ก่อนที่จะได้เรียนรู้วิธีการเก็บตัวอย่างแมลง สิ่งมีชีวิตที่มีจำนวนสายพันธุ์มากที่สุดในโลก ตาข่ายที่ตวัดออกไป จะทำอย่างไรไม่ให้แมลงนั้นบาดเจ็บหรือเสียหาย ซึ่งนักศึกษาหลายคนหายข้องใจว่าผีเสื้อและแมลงสีสวยที่เห็นอยู่ในกรอบรูปวางขายทั่วไปนั้น มีวิธีการทำเบื้องหลังอย่างไร

กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน อีกหนึ่งกลุ่มที่นักศึกษาหลายคนกล้า ๆ กลัว ๆ เมื่อรู้ว่าตัวเองได้อยู่กลุ่มนี้ แต่เมื่อได้รับฟังการบรรยาย มุมมองที่มีต่อสัตว์เหล่านี้ของนักศึกษาก็ค่อยคลายหายไป เมื่อได้รู้ว่าสัตว์หน้าตาไม่น่ารักในสายตาคนทั่วไปนั้น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ช่วยควบคุมประชากรแมลง หรือแม้แต่งูที่หลายคนกลัว ก็มีส่วนช่วยในการควบคุมจำนวนศัตรูพืชอย่างเช่นหนู เป็นต้น ทั้งนี้ นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีเก็บตัวอย่างสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกโดยวิธีวางกับดัก การสังเกตความแตกต่างและจำแนกสายพันธุ์ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่นกบ อึ่ง เขียด ปาด เป็นต้น

กลุ่มความหลากหลายของปักษาพรรณ นักศึกษาหลายคนกลับมาพร้อมกับอาการปวดคอเล็กน้อย เนื่องจากแหงนหน้าคอยมองหานก ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ไหว หรือเสียงร้องแหลมที่ดังขึ้น กล้องสองตาที่ห้อยคอก็พร้อมจะหันไปยังแหล่งที่มีความเคลื่อนไหวเหล่านั้นทันที พร้อมกับการเปิดคู่มือนกในมือ ทำให้หลายคนได้รู้ว่านกเอี้ยงนั้น ยังมีย่อยเป็นนกเอี้ยงหงอน นกเอี้ยงสาริกา นกกิ้งโครง และมีความสนใจที่จะเรียนรู้และศึกษาความแตกต่างของนกแต่ละชนิดต่อไป

กลุ่มทรัพยากรไทยกับงานวิจัยและการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นเหมือนบทสรุปของสิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้จากทุกกลุ่มก่อนหน้านี้ นักศึกษาได้เรียนรู้ว่า บนผืนแผ่นดินไทยนั้น มีทรัพยากรที่มีคุณค่าอยู่มากมายเพียงใด หากเราสนใจ เราสามารถนำมาพัฒนา นอกจากการอุปโภคบริโภคโดยตรง ยังสามารถนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่นการผลิตสบู่หรือยาสระผมสมุนไพร วัสดุเหลือใช้หรือของเสียก็ยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เช่นการผลิตถ่านไม้ ที่ยังได้น้ำส้มควันไม้เป็นของแถม หรือแม้แต่มูลสัตว์ ยังสามารถนำมาหมักเป็นแก๊สหุงต้มสำหรับประกอบอาหารในครัวเรือนได้

ในวันสุดท้ายของโครงการ นักศึกษาแต่ละกลุ่ม ร่วมกันสรุปองค์ความรู้ที่ได้รับของกลุ่มตนเอง มานำเสนอต่อเพื่อนๆ ผู้ร่วมโครงการ โดยมีเพื่อนๆ และคณาจารย์ ช่วยกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ซึ่งนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการต่างมีความรู้ความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยเล็กอย่างจุลชีพใต้น้ำ หรือต้นไม้ขนาดใหญ่ ทุกชีวิตต่างพึ่งพาอาศัยเกี่ยวข้องกันเป็นระบบนิเวศ จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกปลูกฝังเป็นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไปภายภาคหน้า พร้อมต่อยอดไปยังเพื่อนเยาวชนให้มีจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติเช่นเดียวกัน

ที่มา : กองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า ม.ราชมงคลพระนคร