ราชมงคลพระนคร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอาเซียน ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มอบหมายให้ ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า นำผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านงานศิลปวัฒนธรรมจากทั้ง 9 คณะ และหน่วยงานสนับสนุน เดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ตามโครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมอาเซียน ณ Pannasastra University of Cambodia, Siem Reap Campus และแหล่งศิลปวัฒนธรรมแห่งโลกตะวันออก ราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤษภาคม 2560 จัดโดย กองศิลปวัฒนธรรม

กิจกรรมในวันแรก ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้เข้าศึกษาศิลปวัฒนธรรม ณ แหล่งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกโลก เมืองนครธม ชมปราสาทบายน ซึ่งบนยอดปรางค์แต่ละปรางค์มีการจำหลักพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขนาดใหญ่ ตั้งประจำทั้งสี่ทิศ รวม 216 พระพักตร์โดยรอบพระปรางค์ จำนวน 54 ปรางค์ พระพักตร์ที่มีปรากฏรอยยิ้มแบบบายน บริเวณรอบพระปรางค์มีการแกะสลักเรื่องราวเกี่ยวกับกองทัพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และภาพแสดงวิถีชีวิตของชาวขอมในอดีตปราสาทบันทายสรี ปราสาทตาพรหม  และปราสาทนครวัด ซึ่งนับเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ พร้อมรับฟังการบรรยายประวัติศาสตร์อาณาจักรขอมโบราณ  และเรื่องราวในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสยามประเทศในหลายยุคหลายสมัยอีกด้วย จากนั้น คณะเดินทางไปยังปราสาทตาพรหม ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างขึ้นเป็นวัดพุทธ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระราชมารดา โดยรอบปราสาทร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีที่ขึ้นปกคลุมตัวปราสาท เรียกว่า “สะปง” ซึ่งรากไม้ที่แทรกตามร่องอิฐก่อให้เกิดรูปร่างแปลกตา แต่มีความประณีตสวยงาม

ในช่วงบ่าย ชมปราสาทนครวัด หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่และเป็นปราสาทที่มีความสำคัญที่สุดในกลุ่มโบราณสถานในยุคสมัยของอาณาจักรขอม สร้างด้วยแรงงานคนกว่า 100,000 คน ใช้ช้างกว่า 4,000 เชือก และวิศวกรกว่า 3,000 นาย ภายในบริเวณระเบียงคดแต่ละชั้น มีการจำหลักภาพของกองทัพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ภาพเทวดาและภาพอสูรกวนเกษียรสมุทร และภาพหินสลักนางอัปสราหรือนางอัปสร นับเป็นประติมากรรมที่แสดงศิลปะขอมโบราณมีมีชื่อเสียงในระดับสากล

ที่มา : กองศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร