อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ ได้รับรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยฯ ครั้งที่ 23

ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้รับรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยฯ ครั้งที่ 23 จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย โดยมี ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธาน ณ โรงแรม ดิโอกุระ เพรสทีจ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2560

ต้นบอนเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำต่างๆ พบได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งก้านบอนมักถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ ส่วนหัวบอนจะมีแป้งอยู่ปริมาณมาก และมีสารที่ก่อให้เกิดการการคัน ระคายเคือง จึงไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงได้คิดค้นงานวิจัยชุดอุปกรณ์การทำบาติกจากแป้งหัวบอน ซึ่งผลงานนี้ได้รับการการันตีให้เป็นผลงานวิจัยดีเด่น ประเภทที่ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต (Product for life enhancement) ในงานมอบทุนช่วยเหลือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ครั้งที่23 ประจำปี2559 เมื่อเร็วๆ นี้

ผศ.ดร.รัตนพล กล่าวว่า ประเทศไทยมีการผลิตผ้าบาติกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก แต่กระบวนการผลิตค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน จึงได้คิดค้นวิธีการทำสีจากพืชท้องถิ่นที่หาได้ง่ายอย่างต้นบอน จนเกิดผลงานวิจัยชุดอุปกรณ์การทำบาติกจากแป้งหัวบอน เพื่อนำมากั้นลวดลายสำหรับทำผ้าบาติก แทนการใช้เทียนไขหรือขี้ผึ้ง นอกจากนี้ยังได้ทดลองเทคนิคการพิมพ์กั้นสีด้วยชุดสีจากแป้งหัวบอน 3 วิธี คือ การพิมพ์ทับลงบนผ้าฝ้ายเนื้อหนา ผ้าฝ้ายเนื้อบางและผ้าไหม ผลปรากฏว่าสามารถล้างแป้งจากหัวบอนโดยใช้น้ำเปล่าแช่ทิ้งไว้ ส่วนรวดลายบริเวณที่กั้นสีบนผ้าทอที่เป็นผ้าไหมและผ้าฝ้ายยังมีความคงทน ให้ลวดลายที่คมชัด โดยไม่ต้องผ่านความร้อน

ผศ.ดร.รัตนพล กล่าวต่อไปว่า การทำสารกั้นสีจากแป้งหัวบอนสำหรับทำผ้าบาติกประกอบด้วย ผงแป้งจากหัวบอนแห้ง เอทานอล โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) กรดโมโนคลอโลอะซิติก (Monochloro acetic acid) และน้ำกลั่น สำหรับขั้นตอนการผลิตให้นำหัวบอนมาทำความสะอาด ปลอกเปลือก หั่นหัวบอนออกเป็นชิ้นบางๆ และนำไปตากแดดหรืออบแห้ง หลังจากนั้นบดให้ละเอียด และเติมเอทานอล น้ำกลั่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ ลงในขวดก้นแบน เมื่อเสร็จสิ้นนำไปตั้งบนเครื่องกวนสารแบบให้ความร้อนเพื่อละลายและนำผงแป้งหัวบอนแห้ง กับกรดโมโนคลอโรอะซีติกแอซิด มาทำทำการรีฟลักซ์ (Reflux) ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นกรองแยกเนื้อแป้งจากหัวบอนออกจากสารละลาย เมื่อได้เนื้อของแป้งบอนนำไป อบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสจนกว่าจะแห้ง และสามารถนำแป้งจากหัวบอนมาประยุกต์ใช้ทำผ้าบาติกได้ทันที ถือว่าเป็นงานวิจัยจากวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติอย่างแท้จริง และสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนได้ ซึ่งอุปกรการทำผ้าบาติกจากแป้งหัวบอนได้วางจำหน่าย ณ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ราชมงคลพระนคร ผู้สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่087-484- 3723