ราชมงคลพระนคร ดึงสื่อมวลชน ติดตามผลการบูรณาการ ณ ชุมชนบ้านจำรุง

 

ราชมงคลพระนคร ต่อยอดและผสานความร่วมมือมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ร่วมเรียนรู้บูรณาการ 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนจังหวัดหนองคาย ชุมชนบ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี และชุมชนบ้านจำรุง จังหวัดระยอง สร้างเวิร์คช็อปพัฒนาชุมชน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตามแนวคิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายใต้โครงการ “จำปาลาว On The Beach” ณ บ้านจำรุง จังหวัดระยอง

“จำปาลาว On The Beach” เป็นโครงการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเกี่ยวข้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ด้านการสร้างงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม เพื่อถ่ายทอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ ภาคการผลิตและภาคบริการ การให้บริการวิชาการแก่สังคม เพื่อสร้างและพัฒนาอาชีพโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเชิญอาจารย์ นักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ผู้แทนชุมชน และผู้แทนจากกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้จากประเทศลาวเข้าร่วมการเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่มหาวิทยาลัยได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อนำชุมชนก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

รศ. สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวออกแบบปรับภูมิทัศน์ให้กับวัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย อีกทั้งยังพัฒนาชุมชนด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้จังหวัดหนองคายได้รับรางวัลระดับประเทศในงานโอทอปประจำปี 2559 โดยในปีนี้ได้จัดโครงการ “ค่ายนักออกแบบสายสัมพันธ์อาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การบูรณาการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” ด้วยการปรับภูมิทัศน์ออกแบบแผนผังและรูปแบบที่อยู่อาศัยเชิงท่องเที่ยวให้กับชุมชนบ้านจำรุง จังหวัดระยอง

“โครงการนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตามแนวคิดประชาคมอาเซียน เนื่องจากมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวเข้าร่วมพัฒนาชุมชนครั้งนี้ด้วย และยังเป็นการบูรณาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนทั้ง 4 แห่งได้แก่ ชุมชนจังหวัดหนองคาย ชุมชนบ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี ชุมชนบ้านจำรุง จ.ระยอง ชุมชนจากประเทศลาว และเจ้าของกิจการโฮมเสตย์ในจังหวัดระยองด้วย ที่สำคัญเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชน เพื่อเป็นการกระจายสินค้าไปยังชุมชนอื่น และในอนาคตอันใกล้ทางคณะมีแนวคิดที่จะจัดโครงการโดยเชิญอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบของไทยและลาวเดินทางไปศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมหาวิทยาลัย คิวชู ประเทศญี่ปุ่นที่มีการจัดการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มีความคล้ายคลึงกับหลักสูตรของราชมงคลพระนคร พร้อมเจรจาความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์ นักศึกษาของทั้ง 3 ประเทศได้ทำงานร่วมกัน รวมถึงการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวในอนาคตอีกด้วย” รศ.สุภัทรากล่าว

นายธานี สุคนธะชาติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ กล่าวว่า การปรับภูมิทัศน์ชุมชนบ้านจำรุงครั้งนี้ มุ่งเน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษา 3 สาขา คือสาขาสถาปัตยกรรมที่ออกแบบแผนฝังปรับภูมิทัศน์ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิง ระบบนิเวศวิทยา โดยสร้างรูปแบบและแนวทางการพัฒนาทางด้านกายภาพ สังคมและภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่เหมาะสมกับชุมชน สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ออกแบบของที่ระลึกให้กับชุมชน และสาขาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน

นอกจากนี้คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนยังได้มีส่วนร่วมในการจัดอบรมหลักสูตรถ่ายภาพเบื้องต้นให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ในการถ่ายภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชน และจัดทำสื่อวีดีทัศน์ขั้นตอนการปฏิบัติงานสังคมและภูมิทัศน์วัฒนธรรมให้กับชาวบ้านจำรุงอีกด้วย คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ก็เป็นอีกคณะที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนในโครงการ การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการพิมพ์และเพนท์สีครามจากธรรมชาติบนผ้าไหมและผ้าฝ้ายโดยใช้สารข้นจากแป้งหัวบอน ดัดแปรงในเชิงพาณิชย์ มาวาดเขียน สร้างลวดลายเป็นของที่ระลึก เช่น ภาพแขวนผนัง การสร้างลวดลายบนเสื้อยืด คณะศิลปะศาสตร์จัดอบรมมัคคุเทศก์น้อยให้กับเยาวชนบ้านจำรุง เพื่อเป็นการฝึกทักษะทางวิชาชีพ และคณะบริหารธุรกิจที่จัดการฝึกอบรมการทำแผนการตลาดให้กับสมาชิก บ้านจำรุง เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของชุมชนต่อไป

aDSC_3746 (57)aDSC_3746 (30)aDSC_3746 (37)aDSC_3746 (40)aDSC_3746 (22)aDSC_3746 (3) aDSC_3746 (4) aDSC_3746 (7) aDSC_3746 (8) aDSC_3746 (10) aDSC_3746 (11) aDSC_3746 (12) aDSC_3746 (13)aDSC_3746 (21)aDSC_3746 (47)aDSC_3746 (55)