ขอเชิญร่วมพิธีบวงสรวงเสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ขอเชิญร่วมพิธีบวงสรวงเสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ขอเชิญผู้บริหาร ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครทุกท่าน ร่วมพิธีบวงสรวงเสด็จพ่อ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในวันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 8.30 น. ณ พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร

พระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (เสด็จเตี่ย)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์” เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 เป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดา เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลัง

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นเจ้านายพระองค์แรก ที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ โดยพระองค์ทรงมีจุดมุ่งหมายอันแรงกล้า ที่จะฝึกให้ทหารเรื่อไทย เดินเรื่อทะเล และสามารถรบทางเรือได้เยี่ยงชาวต่างชาติ เนื่องจากในอดีตประเทศไทย ได้ว่าจ้างชาวต่างชาติ มาเป็นผู้บังคับการเรือมาโดยตลอด ทั้งนี้ภายหลังจากที่พระองค์สำเร็จการศึกษา และเข้ารับราชการทหารเรือแล้ว พระองค์ได้ทรงแก้ใข ปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ และริเริ่มการใช้ระบบการปกครองบังคับบัญชาตามระเบียบการปกครองในเรือรบ นอกจากนั้น ยังทรงเพิ่มวิชาสำคัญขึ้น เพื่อให้นายเรือสามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ อาทิ ดารศาสตร์ ตรีโกณมิติ อุทกศาสตร์ เรขาคณิต และพีชคณิต เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั้นได้มีคุณูปการต่อวิชาการทหารเรือในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

ในปี พ.ศ. 2462 พระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ โดยนำเรือหลวงพระร่วงจากประเทศอังกฤษเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกลข้ามทวีป ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ทรงเป็นส่วนที่สำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญ และโปรดเกล้าพระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือ มีรากฐานที่มั่นคงนับแต่บัดนั้น อันส่งผลให้กองทัพเรือจึงยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น “วันกองทัพเรือ” ทั้งนี้จากการที่พระองค์ เป็นนักยุทธศาสตร์ ที่เล็งเห็นการณ์ไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเ้วณอำเภอสัตหีบ เพื่อสร้างเป็นฐานทัพเรือ เนื่องจากทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า อ่าวสัตหีบ เป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมการรบทางเรือได้ดี รวมทั้งเกาะน้อยใหญ่ ที่รายล้อมรอบ สามารถบังคับคลื่นลม ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเรือภายนอกเมื่อแล่นผ่านพื้นที่ดังกล่าวจะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้เลย นอกจากนั้นกรมหลวงชุมพรฯ จะทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ทางด้านการแพทย์พระองค์ก็ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง และเสด็จไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้กับประชาชนด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าเป็นคนไทยหรือคนจีน จนกระทั่งชาวจีนย่านสำเพ็ง มีความทราบซึ้งในพระกรุณาธิคุณ และได้เรียกพระองค์ท่านว่า “เตี่ย” ซึ่งหมายถึง “พ่อ” ทำให้ในเวลาต่อมาทหารเรือได้เรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” สำหรับในหมู่คนไข้ชาวไทย ที่พระองค์รักษานั้น มักจะเรียกขนานนามพระองค์ว่า “หมอพร

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ ในขณะที่ประทับอยู่ที่กาดทรายรี ปากน้ำเมืองชุมพร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เวลา 11.40 น. ยังความโศกเศร้ามาสู่บรรดาหทารเรือและพสกนิกรเป็นยิ่งนัก หลังจากนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้รับการยกย่อให้เป็น “องค์บิดาแห่งกองทัพเรือ” ซึ่งนับเป็นการเทิดทูนพะเกียรติคุณอย่างสูงสุด เนื่องจากพระองค์ได้ทรงนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่กองทัพเรือและประเทศไทย ทั้งนี้แม้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม หากแต่พราชกรณียกิจ กอปรกับคุณงามความดีของพระองค์ ยังคงจารึกไว้ในความทรงจำ ของคนไทยมิรู้เลือน พระบารมีของพระองค์ยังคงแผ่ไพศาล ไปทั่วทุกสารทิศ คอยปกป้องคุ้มครองพสกนิกรผู้จงรักภักดีที่เคารพเทิดทูนพระองค์ ให้ประสบความสำเร็จ ในสิ่งอันพิงปรารถนาอยู่เป็นนิจ ดังปรากฎเป็นอนุสรณ์ที่รำลึกถึงพระองค์อย่างมากมายที่กระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ทั้งพระรูปอนุสาวรีย์ ศาลกรมหลวงชุมพรฯ พระฉายาลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ เหรียญที่ระลึก ตลอดจนพระนามที่ปรากฎเป็นชื่อของสถานที่ต่างๆ ยอมเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นก็คือ พระรูปอนุสาวรีย์ของพระองค์ ณ วิทยาลัยพณิชยการพระนคร (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของพวกเราชาวพณิชยการพระนคร จวบจนถึงปัจจุบันนั่นเอง