เมื่อวันที่ 21-24 ตุลาคม 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย : ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้แก่ ดร.นเรศ กันธะวงค์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา อ.พัดยศ เพชรวงษ์ ผู้ช่วยคณบดีและหัวหน้าสาขาวิชาการท่องเที่ยว อ.ญาณาธร เธียรถาวร หัวหน้างานศิลปวัฒนธรรม อ.ว่าที่ ร.ต.สราทตรา เล่งไพบูลย์ หัวหน้างานวิชางานทหารและเทคโนโลยีเพื่อสารสนเทศทางกิจการนักศึกษา และ นส.ศุภวรรณ กุศลธรรมรัตน์ หัวหน้างานเอกสารสื่อสิ่งพิมพ์ ลงพื้นที่ตำบลคลองกระแชง เพื่อจัดกิจกรรมยกระดับสินค้าชุมชน ของ ตำบลคลองกระแชง จ.เพชรบุรี ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก อ.สุวัสส์ แพ่งธีระสุขมัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ร่วมสังเกตุการณ์และให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าโอท็อป สู่ความยั่งยืนในอนาคต

กิจกรรมประกอบด้วย 1) การปั้นดินเหนียวเมืองเพชรบุรี เป็น “หม้อตาลโตนด” โดยมีคุณเอนก อยู่สนาน เป็นวิทยากร สอนกรรมวิธีการปั้นหม้อ ตามขั้นตอนแบบโบราณ เพื่อการเรียนรู้ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ด้วยตนเอง 2) การลงเส้นเล่นสี ต่อยอดจากกิจกรรมปั้นดินให้ดัง (นกหวีด) ด้วยการระบายสี โดยมีคุณอภิรัตน์ สิปสกุล และ คุณกิตติพงษ์ พึ่งแตง เป็นทีมวิทยากร ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญคือ การเพิ่มมูลค่าให้กับนกหวีดที่ปั้นจากดิน และใส่แพคเกจช่วยเพิ่มความสวยงามมากยิ่งขึ้น 3) การทำวุ้นสวนดอกไม้คลองกระแชง โดยบูรณาการศาสตร์ข้ามคณะ ของ ศิลปศาสตร์ และคหกรรมศาสตร์ โดยมี อ.บุษยมาลี ถนนทิพย์ และ ผศ.กมลพิพัฒน์ ชนะสิทธิ์ เป็นทีมวิทยากร พร้อมส่งอาจารย์จากสาขาวิชาการโรงแรม 3 ท่าน ลงเป็นผู้ช่วยวิทยากร ร่วมสังเกตการณ์และเรียนรู้ หวังขยายผลในอนาคต สำหรับชื่อวุ้น ได้มาจากการระดมความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเป็นชาวคลองกระแชง จุดมุ่งหมายสำคัญคือ การสร้างความมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงาน และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผลงาน รวมถึงการตั้งชื่อของขนม คือ วุ้นสวนดอกไม้คลองกระแชง

“มะลิ เพียงดอกเดียว อาจมีความหอมและมีคุณค่าในตัวเอง แต่หากเรานำมาเรียงร้อยต่อเนื่องกันอย่างมีศิลปะ เป็นพวงมาลัยมะลิที่สวยงาม ดอกมะลิเหล่านั้นย่อมมีคุณค่ามหาศาลมากยิ่งขึ้น และมีมูลค่าเพิ่มได้อย่างน่าอัศจรรย์ ฉันใด การนำความรู้จากปราชญ์ชุมชน ผสมผสานกับความรู้จากสถาบันการศึกษา จึงเปรียบเสมือนการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้กับชุมชนคลองกระแชง ได้มากมายอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน ฉันนั้น” ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช หัวหน้าโครงการฯ กล่าวทิ้งท้าย

#เรารักคลองกระแชง

#welovekhlongkrachaeng

https://larts.rmutp.ac.th