ทีมคลองกระแชง ดันขั้นตอนสุดท้าย จัดเวอร์คช็อปร่วมกับชุมชน และสำรวจยืนยันเส้นทางท่องเที่ยว ก่อนโชว์ศักยภาพ “แอพลิเคชั่น : เส้นทางท่องเที่ยวคลองกระแชง” เพื่อเตรียม ปิดจ๊อบ โครงการ ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย พร้อมนำเสนอผลงานจากคณะศิลปศาสตร์ มทร.พระนคร สู่กระทรวง อว. ตามนโยบายการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพ อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ให้กับชุมชนคนคลองกระแชง จ.เพชรบุรี ท่ามกลางสถานการณ์โควิด ๑๙ ตลอดปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ ๔-๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มทร.พระนคร ในฐานะหัวหน้าโครงการ ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย : ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี พร้อมด้วย ดร.นเรศ กันธะวงค์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา อาจารย์ว่าที่ร้อยตรีสราทตรา เล่งไพบูลย์ ประธานจัดตั้งหลักสูตร ปวช. และ นางสาวศุภวรรณ กุศลธรรมรัตน์ เดินทางลงพื้นที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อยืนยันเส้นทางการท่องเที่ยวคลองกระแชง ก่อนทำ Workshop ร่วมกับทีมงานทั้ง ๑๘ คน อันได้แก่ ภาคประชาชน ภาคบัณฑิตจบใหม่ และภาคนักศึกษาปัจจุบัน โดยร่วมกันระดมสมองให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการออกแบบ “เส้นทางการท่องเที่ยว” อย่างสร้างสรรค์ เพื่อจัดทำเป็น “แอพลิเคชั่นเส้นทางท่องเที่ยวคลองกระแชง” หลังจากผลักดันสินค้า OTOP ปั้นดินให้ดัง “นกหวีด-เต่าหวีด” “ปั้นหม้อตาลโตนด” และ “วุ้นสวนดอกไม้คลองกระแชง” เพื่อเป็นสินค้าขึ้นชื่อให้กับชุมชน ของคนคลองกระแชงไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา

สำหรับ เส้นทางการท่องเที่ยวคลองกระแชง ที่น่าสนใจ อาทิ “เส้นทาง…กินกัน ปั่น เที่ยว” “เส้นทาง…เดินเท้าทอดน่อง ส่องปูนปั้น” และ “เส้นทาง…นั่งรถไฟ ไปรถเล้ง” เป็นต้น โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัด วัง ศาสนสถาน ร้านอาหารอร่อย พร้อมแหล่งสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีอยู่อย่างพร้อมสรรพในตำบลคลองกระแชง จากนั้น ทีมงานคณะศิลปศาสตร์ มทร.พระนคร จะได้ใช้องค์ความรู้ที่มีด้านการท่องเที่ยว จัดสร้างแอพลิเคชั่นเส้นทางท่องเที่ยวคลองกระแชง เพื่อส่งมอบกลับให้กับชุมชนไว้ใช้งาน คาดว่า จะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วไทย ที่จะสามารถศึกษาเส้นทางก่อนเดินทางมาท่องเที่ยว ณ สถานที่จริง หรือ สามารถเลือกเส้นทางท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสมกับความสนใจและเวลาที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุดในการท่องเที่ยวตำบลคลองกระแชง นับเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชน อันเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวง อว. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่เราพร้อมใช้องค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีศักยภาพ มาบูรณาการใช้จริง เพื่อสร้างสรรค์ชุมชน อย่างเป็นรูปธรรม…และยั่งยืน