ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโครงการ ลงพื้นที่ปฏิบัติการที่รับผิดชอบ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

( 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี

กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้น 2 ระยะ ในระยะที่ 1 วันที่ 8-12 กันยายน 2564 และระยะที่ 2 วันที่ 18-19 กันยายน 2564

กิจกรรมแบ่งเป็น 2 ส่วน

ในส่วนที่ 1 ได้รับเกียรติจาก คุณปภังกร จรรยงค์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นวิทยากร การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและสินค้าชุมชน โดยมีหัวข้อย่อยเกี่ยวกับเรื่อง “บทบาทผู้นำชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี” และ “การบรรยายพิเศษประกอบการศึกษาเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อสร้างแอพลิเคชั่นการท่องเที่ยว ตำบลคลองกระแชง” วิทยากรเน้นแนวทางส่งเสริมด้วยการสร้างชุมชนเพื่อชุมชน ด้วยกิจกรรมและแนวคิด ที่หลากหลาย

ในส่วนที่ 2 ได้รับเกียรติจากปราชญ์ชาวบ้าน อาจารย์กิตติพงษ์ พึ่งแตง เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง “ปั้นดินให้ดัง” … มรดกสมบัติแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจในวัฒนธรรมความเป็นมาของเมืองพริบพรี..เพชรบุรีในเชิงประวัติศาสตร์ตามช่วงยุคสมัย

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะผู้รับผิดชอบโครงการได้ข้อมูลในการจัดทำการพัฒนาแผนที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนาสินค้าชุมชน ดังนี้

1) การใช้ศักยภาพของศิลปินพื้นบ้าน ด้วยการสร้างสรรค์ศิลปะการวาดภาพโดยศิลปินท้องถิ่น แบบมีสตอรี่ อาทิ แนวคิดเรื่องการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง แนวคิดด้านประวัติศาสตร์ แนวคิดด้านวรรณกรรม วรรณคดี แนวคิดด้านการอนุรักษ์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมตามแนวทาง “ชิม ชม ช้อป แชะ แชท” เพื่อขับเคลื่อนชุมชนสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน

2) กิจกรรมการท่องเที่ยววัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น การทำพวงมะโหด การทำขนมโก๋ การรำละครชาตรีแบบเพชรบุรี การตอกหนังใหญ่ การทำขนม การทำข้าวแช่ เป็นต้น

3) แนวทางการกำหนดให้เพชรบุรี เป็นเมืองแห่งอาหารการกิน ที่สามารถทานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

4) กิจกรรม “น้ำตาลสร้างเมือง น้ำตาลสร้างชาติ : น้ำตาลโตนด” ในอดีตน้ำตาลโตนดเคยเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีชื่อเสียง และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนคนเมืองเพชร มาแต่อดีต

5) สถาปัตยกรรมที่มาจากสติปัญญาของชาวบ้าน ได้แก่ “เรือกระแชง” พาหนะที่ชุมชนในอดีตใช้สัญจร สำหรับการขนถ่ายสินค้าจากชุมชนคลองกระแชง สู่เมืองหลวงของประเทศ นำรายได้สู่ท้องถิ่น

6) การเดินทางโดยพาหนะโบราณ คือ รถเล้ง ซึ่งยังคงได้รับความนิยมมาตราบ ณ ปัจจุบัน

7) การวางแผนยุทธศาสตร์ มัคคุเทศก์แบบถูกกฎหมาย จาก “ชุมชนเถื่อน สู่ชุมชนถูกกฎหมาย”

9) การประสานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสู่การได้รับรางวัลด้าน “การท่องเที่ยว ในระดับประเทศ” ปัจจัยสู่ความสำเร็จ คือ การสร้างความมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่ทำงานเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ตามนโยบายการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพ ให้กับประชาชนในชุมชน

10) กิจกรรมสร้างสรรค์ “ตลาดคนเดิน เพลินเมืองเพชร” ในบริเวณถนนคนเดิน หน้าวัดพลับพลาชัย

11) กิจกรรมเชิงวิชาการ ณ บริเวณลานยอดกวีสุนทรภู่ ริมแม่น้ำเพชรบุรี

12) กิจกรรมปูนปั้น นักท่องเที่ยวเพื่อชมงานปฏิมากรรมปูนปั้น แบบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) มีการฝึกภาคปฏิบัติ โดยนักท่องเที่ยวฝึกปั้น ผู้ประกอบการในชุมชนนำชิ้นงานเข้าเตาเผา และสามารถจัดส่งชิ้นงาน ที่ถือว่า เป็น “มนต์เสน่ห์” ของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้กับนักท่องเที่ยวได้ทางไปรษณีย์

ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวถึงความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ได้แก่

1) การสร้างเส้นทางสู่การได้รับบัตรมัคคุเทศก์ หลักสูตรมัคคุเทศก์ชุมชน “บัตรไกด์” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชน

2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ด้วยการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เช่น
2.1) การผลิตของที่ระลึกปูนปั้นจิ๋ว (หม้อตาลเมืองเพชรบุรี)
2.2) การทำนกหวีดจากแนวคิด … มรดกสมบัติแม่น้ำเพชรบุรี
2.3) การทำพวงมะโหด
2.4) การผลิตตุ๊กตาออมสิน “น้องตาลโตนด”

โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ประดิษฐ์และสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยฝีมือของตนเอง และสามารถนำกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึก สร้างเสน่ห์ที่ควรค่าแก่ความประทับใจ และต่อยอดในเชิงประชาสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

ที่มา: 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี / คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร