วีลแชร์ เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวให้กับผู้มีปัญหาการเดิน การทรงตัวหรือการเคลื่อนไหวทางร่างกาย ที่ไม่ใช่สำหรับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบมาให้ใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย โดยปัจจุบันมีการนำวีลแชร์มาใช้กับสุนัขที่พิการ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถกลับมาเดิน วิ่งเล่น มีชีวิตปกติเช่นเดิมได้ โดยวีลแชร์ที่เห็นทั่วไปมีหลายรูปแบบ วัสดุ และราคา รวมถึงที่ประดิษฐ์ขึ้นเองจากท่อพีวีซี ราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่น ซึ่งวีลแชร์เหล่านี้ล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อต้องการช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้พบว่าสัตว์พิการที่กลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้อีกครั้งจะมีความสดใสร่าเริงขึ้นและสามารถกลับเข้าไปรวมฝูงได้อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามวีลแชร์ที่จะนำมาใช้กับสัตว์เลี้ยงพิการ จะต้องมีการออกแบบด้วยวัสดุที่แข็งแรง และมีขนาดเฉพาะตัวของสัตว์นั้น เนื่องจากจะช่วยให้มีการถ่ายเทน้ำหนักที่ถูกต้อง ส่งผลให้สัตว์พิการเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่หากวีลแชร์มีน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ต้องรับภาระจากการลากน้ำหนัก ทำให้การงอตัวของสุนัขไม่สะดวก หรือมีการกระแทกที่แข็งกระด้างเกินไป ก็จะทำให้เกิดปัญหากับสุนัขได้ จากข้อจำกัดข้างต้นทำให้ นายปุญญพัตน์ เทียนไชย นายณัฐวุฒิ พรหมเพชร และนายแวอับดุลฮากีม แวสาเหาะ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกันประดิษฐ์ ระบบช่วยควบคุมวีลแชร์สุนัขแบบอัตโนมัติ มุ่งหวังช่วยสุนัขพิการทางขาให้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับสุนัขปกติได้มากที่สุด โดยมี ดร.วิชชา อุปภัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นที่ปรึกษาโครงการ


นายแวอับดุลฮากีม แวสาเหาะ ตัวแทนทีมนักศึกษากล่าวถึงแรงจูงใจในการประดิษฐ์วีลแชร์สุนัขแบบอัตโนมัติว่า เห็นสุนัขพิการจากอุบัติเหตุ หรือมีอาการขาอ่อนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เดินวิ่งเล่นได้เหมือนตัวอื่น ๆ ซึ่งจากการหาข้อมูลพบว่าวีลแชร์จากท่อพีวีซีในท้องตลาดทั่วไป เป็นแค่โครงสร้างที่ใช้ช่วยในการประคองการยืนทรงตัว และการเคลื่อนที่ของสุนัขเท่านั้น ไม่สามารถปรับท่านั่ง หรือนอนได้อย่างอิสระ จึงเห็นสุนัขที่ใส่วีลแชร์ส่วนใหญ่เวลานั่งหรือนอนก้นจะโด่งขึ้นไม่สามารถนอนราบไปกับพื้นได้ เพราะวีลแชร์เหล่านี้ไม่สามารถพับงอตามสรีระได้นั่นเอง ส่วนอีกชนิดคือ วีลแชร์สุนัขแบบกึ่งอัตโนมัติเกรดสแตนเลสทางการแพทย์ ก็จะมีราคาสูงมาก อีกทั้งยังต้องให้ผู้เลี้ยงดูประคองในการลุกหรือนั่งของสุนัขเวลาใช้งาน ดังนั้นการประดิษฐ์วีลแชร์สุนัขแบบอัตโนมัติ จึงออกแบบให้รองรับการใช้งานได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยการติดตั้งเซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิกในตำแหน่งบริเวณขาหน้าและขาหลัง ซึ่งเซนเซอร์จะคอยจับระยะ ระหว่างพื้นและตัวสุนัขซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกพฤติกรรม เช่น การยืน เดิน นอน วิ่ง โดยไม่ต้องมีคนคอยประคองดูแล และปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากท่อ PVC เป็นแผ่นอะคริลิกให้ทนทานแข็งแรงด้วย ซึ่งวีลแชร์ต้นแบบมีความจุของแบตเตอรี่อยู่ที่ 30 นาที ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และการรับน้ำหนักตัวของสุนัขสูงสุดที่ 15 กิโลกรัม
นายณัฐวุฒิ พรหมเพชร กล่าวเสริมว่า การออกแบบวีลแชร์สุนัขแบบอัตโนมัติ ได้ทำการทดสอบระบบควบคุมในรูปแบบต่าง ๆ จำนวน 3 รูปแบบ เพื่อให้การทำงานของวีลแชร์เป็นไปอย่างเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของสุนัขได้มากที่สุด ประกอบด้วย 1. การทดสอบเซ็นเซอร์วัดค่าสั่นสะเทือน เพื่อทำการปรับท่านั่งและยืนของสุนัข 2. การทดสอบเซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิก Module HC-SR04 2 ตัว ให้ทำงานร่วมกัน เพื่อปรับองศาความสูง และองศาการเอียงตัวของสุนัข และ 3.การทดสอบเซนเซอร์อัลตร้าโซนิก Module HC-SR04 1 ตัว เพื่อส่งข้อมูลระหว่างระยะหน้าอกกับพื้น โดยเซ็นเซอร์ทั้งสามเป็นตัวส่งข้อมูลการเคลื่อนตัวของสุนัขไปประมวลผลผ่านบอร์ดอาดูโน่ (ARDUINO) ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของเซ็นเซอร์ทั้งสาม โดยการทดสอบระบบการยกตัว ความไวการยก และพับขาสุนัขในลักษณะที่แตกต่างกัน ผลการทดสอบพบว่า การใช้เซนเซอร์อัลตร้าโซนิก Module HC-SR04 2 ตัวให้ทำงานร่วมกันมีความแม่นยำและความเสถียรประมาณ 80% และตอบสนองได้ 100% สามารถตรวจจับความสูงและท่าทางของสุนัขได้แม่นยำ ส่งผลให้ระบบสามารถปรับขาอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ในส่วนของการใช้เซนเซอร์อัลตร้าโซนิก Module HC-SR04 1 ตัว มีความแม่นยำและความเสถียรอยู่ที่ประมาณ 60–65% เนื่องจากการตรวจจับเป็นแบบมุมมองเดียว ทำให้ระบบประมวลผลการเปลี่ยนท่าทางมีความแม่นยำลดลง สุดท้ายเซ็นเซอร์วัดค่าสั่นสะเทือนมีความแม่นยำและความเสถียรของสัญญาณต่ำกว่า 50% การตรวจจับแรงสั่นสะเทือนไม่สม่ำเสมอ ไม่เหมาะสมต่อการใช้งานในระบบวีลแชร์ฯ ซึ่งทั้งนี้ได้นำผลการทดสอบที่ได้ไปพัฒนาในส่วนชิ้นงานโครงสร้างและการรับน้ำหนัก เพื่อให้สามารถช่วยเหลือสุนัขในแบบที่แตกต่างกันไปตามลักษณะความพิการ รวมถึงอิริยาบถเฉพาะในชีวิตประจำวันทั้งการวิ่ง กระโดด นั่ง นอน และการกลิ้งตัวต่อไป “อย่างไรก็ตามทีมงานมุ่งหวังนำสิ่งประดิษฐ์ไปใช้กับสุนัขจริงโดยไม่เกิดปัญหาความเครียด หรือเป็นภาระกับสุนัข เพราะสุนัขแต่ละตัวต้องใช้เวลาในการปรับตัวเข้ากับวีลแชร์ ทั้งด้านร่างกายและสุขภาพจิตใจไม่เท่ากัน อีกทั้งมุ่งหวังให้ผู้สนใจนำไปทดสอบใช้กับสุนัขจริง แต่อย่างไรก็ตามการใช้วีลแชร์เป็นเพียงแค่ส่วนเติมเต็มชีวิต ผู้เลี้ยงดูควรใส่ใจเขาอีกทางหนึ่งด้วย ไม่เช่นนั้นเขาก็จะเป็นแค่สัตว์พิการตัวหนึ่งเท่านั้น ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 02 665 3888 ต่อ 7131, 7146” ดร.วิชชา อุปภัย กล่าว
พุทธชาติ/ข่าว