Research

คหกรรมฯ บูรณาการศาสตร์พันธุกรรมพืช สู่งานศิลปะบนผืนผ้า

          สีที่ได้จากธรรมชาติมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาตั้งแต่อดีต และได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัย  ซึ่งสีธรรมชาติมีบทบาทเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น มนุษย์ได้ใช้สีจากพืชในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ต่อมาก็ได้มีการใช้สีจากพืชกันอย่างแพร่หลายมาก โดยได้มีการนำไปใช้ในการย้อมผ้าเพื่อใช้ในการแต่งกาย ตกแต่งเครื่องมือและเครื่องใช้ ตกแต่งสีในอาหาร การย้อมสีขนสัตว์ โดยเฉพาะในสตรีได้มีการนำสีจากพืชมาใช้ย้อมผม ซึ่งสีที่ใช้จะได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืชได้แก่ เปลือกไม้ ใบไม้ รากไม้ และยางไม้หรือชัน เป็นต้น  แต่เมื่อโลกมีเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า สีจากพืชได้ลดความนิยมลงไป คงเหลือใช้ประโยชน์ของสีจากธรรมชาติเพียงไม่มากในผู้คนบางกลุ่มเท่านั้น นั่นคือจะใช้ในการตกแต่งสีอาหารเพื่อให้น่ารับประทาน และใช้ในการย้อมผ้าเพื่อให้ได้สีตามต้องการ  เนื่องจากได้มีการนำสีสังเคราะห์มาใช้แทนสีธรรมชาติจากพืช แต่อย่างไรก็ตามสีสังเคราะห์เต็มไปด้วยสารเคมีที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ผู้คนในปัจจุบันได้มีการหันกลับมาให้ความสนใจในการใช้สีธรรมชาติอีกครั้ง  เพราะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้ ไม่มีสารเคมีตกค้าง และยังได้คุณค่าที่อนุรักษสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

          ด้วยเหตุนี้ ทีมนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย  นางสาวสไบทิพย์ พิบูลย์  นางสาวปิยะธิดา เทียนพิทักษ์  นางสาวณิชกาญจ์ บุญจันทร์  นางสาวอัญชลิกา ฤทธิ์แดง  นางสาวระพีพรรณ กลิ้งรัมย์  นางสาวชัญญา โพธิวัชร์ นางสาวเอมวลี อนุปราการ นางสาวยุพาวดี อุดมผล  นางสาวกชกร โพธิ์สุข และนายเอกณัฐ ภูมิดิษฐ์  จึงมีแนวคิดที่จะนำวัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้และใบไม้ มาทำให้เกิดสีสันตามที่ต้องการบนผืนผ้า ภายใต้ผลงานชื่อ Color of Fabric  เพื่อเพิ่มมูลค่าและเผยแพร่วัตถุดิบท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในเชิงคหกรรมศาสตร์  ซึ่งเป็นการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน มาบวกรวมกับความสามารถในการออกแบบที่มีความสร้างสรรค์ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ กระเป๋า เสื้อผ้า หมวก ผ้าคลุมไหล่ ที่เหมาะสำหรับลูกค้าที่กำลังมองหาความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร โดยดึงคุณค่าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนเมืองได้อย่างลงตัว และตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ในยุคดิจิทัล โดยมี อาจารย์มัลลิกา จงจิตต์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ

         อาจารย์มัลลิกา จงจิตต์ กล่าวว่า ผลงาน Color of Fabric เกิดจากการบูรณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืช สู่งานคหกรรมศาสตร์ โครงการตามรอยพระราชดำริเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช ประจำปี 2564  ซึ่งเป็นการบูรณาการวิชาเรียนของนักศึกษาให้เข้ากับศาสตร์สาขาวิชาที่เรียน โดยหวังให้นักศึกษาเล็งเห็นการใช้ประโยชน์ของพืชให้สีทุกชนิด ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเห็นคุณค่าและรู้จักใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ  โดยผลงานได้ทำการศึกษาการพัฒนาสีย้อมจากเปลือกประดู่ ที่ให้สีน้ำตาลแดง เนื่องจากเล็งเห็นว่าประดู่เป็นพืชท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกถิ่นทั่วทุกภูมิภาค สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งเปลือก ใบแห้ง ใบสด ลูก ดอก  ซึ่งข้อดีของสีธรรมชาติ  คือไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค  น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม  วัตถุดิบหาได้ง่ายในชุมชน อีกทั้งการย้อมสีธรรมชาติสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นตามประสบการณ์ สามารถถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลัง เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น  อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติย่อมก่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์ และปลูกทดแทนเพื่อการผลิตที่ยั่งยืนอีกด้วย  โดยในการสร้างผลงาน Color of Fabric ใช้ดอกไม้และใบไม้ อาทิ ลิ้นกระบือ ดอกพยับหมอก ใบหางนกยูง  ใบมะละกอไชยา ดอกทองกาว เมล็ดประดู่ ซึ่งผลงานผ้าพิมพ์สีธรรมชาติด้วยใบไม้ นับเป็นการผลิตผ้าด้วยธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม และได้ลวดลายสีสันของผ้าสวยงามแปลกตา ซึ่งเป็นการออกแบบได้ด้วยตัวเอง เป็นผ้าผืนเดียวในโลก  ซึ่งกระบวนการพิมพ์ผ้าสีธรรมชาติด้วยใบไม้ นับเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ละเอียดอ่อน ใบไม้ที่นำมาใช้สามารถเลือกได้หลายชนิดและหาง่ายในแต่ละท้องถิ่น แต่มีข้อจำกัดบ้างในเรื่องฤดูกาลในการเก็บใบไม้ อายุของใบไม้ สภาพอากาศ ฯลฯ ทำให้ได้สีมากน้อยต่างกันไป

         ด้านนางสาวกชกร โพธิ์สุข ตัวแทนทีมนักศึกษา กล่าวว่า  การสร้างสรรค์ผลงาน เริ่มจาก กระบวนการสกัดน้ำสี  โดยนำเปลือกประดู่ไปต้มในน้ำร้อน เคี่ยวประมาณ 1-5 ชั่วโมง จากนั้นจึงกรองเอาเปลือกประดู่ออกก็จะได้น้ำสีสำหรับย้อม โดยให้ทิ้งน้ำสีไว้ประมาณ 1-2 คืน ขั้นตอนการย้อม ให้ผสมน้ำสีและเกลือตามสัดส่วน นำผ้าที่มัดลวดลายแล้วใส่ลงไปย้อมที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เวลา 45-60 นาที ระหว่างย้อมให้คนตลอดเวลาเพื่อให้สีติดทั่วสม่ำเสมอ เสร็จแล้วนำไปซักน้ำสะอาดจนกว่าน้ำจะใส และนำไปผึ่งลมให้แห้ง ก็จะได้ผืนผ้าสำหรับนำไปสร้างลวดลายต่อไป ซึ่งการสร้างลวดลายจากใบไม้ ดอกไม้ด้วยการทุบ  ขั้นตอนแรกคือการเก็บใบไม้ ดอกไม้มาทำความสะอาด ล้าง เช็ดให้แห้งจากนั้นเลือกใบไม้ ดอกไม้ที่มีรูปร่างสีสันตามต้องการ นำมาวางลงบนผืนผ้า ใช้เทปกาวแปะทับเพื่อไม่ให้ใบไม้ ดอกไม้ขยับ หากต้องการลายด้านเดียวใช้กระดาษกั้นกลาง จากนั้นใช้ก้อนหินหรือฆ้อนทุบให้สีจากใบไม้ ดอกไม้ติดเข้าไปในเนื้อผ้า หลังจากทุบเสร็จนำไปรีดด้วยเตารีดไอน้ำด้านหลังผ้า ก็จะได้ลวดลายบนผ้าตามที่ต้องการ

         “อย่างไรก็ตามแม้ศิลปะจากการทุบจะไม่สามารถอยู่ได้คงทน แต่การที่นักศึกษาได้มีโอกาสลงมือทำ ก็สามารถจรรโลงความคิดและจิตใจในการเป็นนักประดิษฐ์ที่ได้เรียนรู้ทดลอง และรังสรรค์ผลงานศิลปะของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี”