News

ราชมงคลพระนคร จัดเสวนาสร้างความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) จัดเวทีเสวนา หัวข้อความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ (Climate Justice) โดยมี ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี ราชมงคลพระนคร คุณเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน และคุณรัดเกล้า พันธุ์อร่าม ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ การมีส่วนร่วมในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ณ ห้อง Digital Broadcast 204 สถาบันสหวิทยาการดิจิทัลและหุ่นยนต์ ราชมงคลพระนคร (ศูนย์พระนครเหนือ)

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางหรือมีทรัพยากรน้อยมักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งการจัดการกับปัญหานี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างความเท่าเทียมในสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง ราชมงคลพระนครในฐานะสถาบันการศึกษา จึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม จึงนำมาสู่การจัดเสวนาความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ (Climate Justice) ซึ่งจะเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น เพื่อค้นหาทางออกและแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนความยุติธรรมทางภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับราชมงคลพระนครมีเป้าหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ และได้รับการจัดอันดับจาก Times Higher Education (THE) องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2024 จากประเทศอังกฤษ โดยด้านการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable cities and Communities) หรือ SDG 11 ราชมงคลพระนครอยู่ในอันดับที่ 300 – 400 ของโลก ติดอันดับร่วมที่ 6 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังขับเคลื่อนผ่านนโยบายต่าง ๆ ที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดโดยการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ตามอาคารเรียน การปลูกฝังนักศึกษาจากรายวิชาทั่วไป รวมถึงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ปลูกฝังจิตสำนึกแก่บุคลากรและนักศึกษาให้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและรวมสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ขณะที่คุณรัดเกล้า พันธุ์อร่าม กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐวิสหกิจของประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ (Climate Justice) โดยมีหมุดหมายที่ 10 เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ หมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติภูมิอากาศ จากหมุดหมายทั้ง 2 หัวข้อนำมาสู่นโยบายของกฟผ.ที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาองค์การเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางที่คาร์บอน พร้อมมุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านโครงการเด่น ๆ มากมาย เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานไทย (T-VER) โครงการใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) และโครงการโรงเรียนสีเขียว กฟผ.พร้อมผลักดันให้เกิดแรงกระตุ้นและการตื่นตัวของธุรกิจพลังงานสีเขียว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้หมุนต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ด้านคุณเข็มอัปสร สิริสุขะ เปิดเผยว่า ในฐานะตัวแทนบทบาทภาคประชาชนกรณีขับเคลื่อนทางสภาวะ  สำหรับสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันที่ส่งผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความท้าทายและอุปสรรคดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สร้างความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหากับภัยแล้งและพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะนำไปสู่รายได้ในการเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัวที่ลดลง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ (Climate Justice) มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเรื่องนโยบายและหลักธรรมาภิบาลที่จะเป็นแรงในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเครื่องมือสำหรับการสร้างความเป็นธรรมทางภูมิอากาศได้นำเสนอผ่าน 7 เครื่องมือ ได้แก่ การเงินสีเขียว (Green Finance) การสร้างความตระหนักรู้สู่สาธารณะชน (Public Awareness Campaigns) ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ระบบในการจำกัดสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap & Trade) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Incentives) กฎระเบียบและมาตรฐาน (Regulations & Standards) ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Emission Trading System) ทั้งนี้ทุกคนที่ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใดก็ตามต่างมีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และสามารถแก้ไขปัญหาได้

ฉวีวรรณ/ข่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter