Research

อาจารย์ราชมงคลพระนคร ประยุกต์เส้นใยไหม -เส้นใยฟิลาเจน ออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่ ตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ ตอบเทรนด์สิ่งทอ 4.0 เน้นประโยชน์ใช้สอยและสวยงาม

ปัจจุบันมีการผลิตเส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอมากมาย ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและผู้สวมใส่  เช่นเดียวกับเส้นใยฟิลาเจน (Filagen) ซึ่งเป็นเส้นใยที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติประกอบด้วย เซลลูโลสจากเปลือกไม้ และคอลลาเจนเปปไทด์จากปลามิลค์ฟิช จึงทำให้เส้นใยชนิดนี้มีความปลอดภัยไม่ระคายเคืองต่อผิว  โดยคอลลาเจนไม่เพียงเคลือบบนผิวเส้นใยเท่านั้น แต่ยังคงฝังในทุกโครงสร้างอณูของเส้นใย จึงทำให้มีความคงทนถาวรไม่หายแม้ผ่านการซักล้าง นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV กำจัดกลิ่นอับ ถ่ายเทอากาศได้ดี  และย่อยสลายได้ในธรรมชาติ แม้ว่าเส้นใยฟิลาเจนเป็นนวัตกรรมมัลติฟังก์ชั่นที่ยังค่อนข้างมีความใหม่ แต่หลากหลายอุตสาหกรรมได้นำเส้นใยนี้ไปผสมผสานและออกแบบตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมากมาย เพื่อเพิ่มช่องทางการใช้งานในทุกกลุ่ม เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น  เสื้อผ้ากีฬา  ชุดชั้นในสำหรับผู้ชาย  ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอน เป็นต้น  ซึ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  จากคุณสมบัติข้างต้นของเส้นใยชนิดนี้ นายเกชา ลาวงษา อาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  จึงมีแนวคิดศึกษาและประยุกต์เส้นด้ายผสมระหว่างเส้นใยไหมกับเส้นใยฟิลาเจน เพื่อออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่ สำหรับพัฒนาเสื้อผ้าบุรุษด้วยวิธีการตัดต่อ โดยมีแรงบันดาลใจจากศิลปะอิสลามมาทำการออกแบบลวดลาย  ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างผ้าไทยกับศิลปะที่มีความเป็นสากล  ด้วยรูปแบบเรียบหรู สุภาพ เป็นทางการ สามารถสวมใส่ในกลุ่มสุภาพบุรุษอย่างลงตัว และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้สินค้าแฟชั่นมีความแปลกใหม่ เป็นการผสมผสานความเป็นสากลให้กับผ้าไทยมากยิ่งขึ้น

นายเกชา ลาวงษา กล่าวว่า  การประยุกต์เส้นด้ายผสมระหว่างเส้นใยไหมกับเส้นใยฟิลาเจน เพื่อการออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่สำหรับเสื้อผ้าบุรุษ มีขั้นตอนการดำเนินการผลิตเส้นด้าย จำนวน 5 อัตราส่วน คือ ร้อยละ 70:30  60:40 50:50  40:60  30:70  วิธีการเตรียมเส้นใยไหมกับเส้นใยฟิลาเจน ประกอบด้วย เส้นไหมน้อย เบอร์ 40/1  เส้นใยฟิลาเจน 100 % เบอร์ 40/1  จากการทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ด้านความแข็งแรง ด้านแรงดึงขาด ด้านการยืดตัว พบว่า อัตราส่วนผสมที่ดีที่สุดสำหรับนำมาตีเกลียวเป็นเส้นด้าย คือร้อยละ 70:30  เมื่อทดสอบความแข็งแรงด้านแรงดึงขาดอยู่ที่ 14.97 นิวตัน ด้านการยืดตัวขณะขาดอยู่ที่ ร้อยละ 11.12 และด้านขนาดเส้นด้ายอยู่ที่ 574.7 ดีเนียร์  ส่วนสำหรับการดำเนินการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมัดหมี่ต้นแบบ ประกอบด้วย 1.ดำเนินการตีเกลียวแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยชาวบ้านชุมชนตำบลแตล อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์  2.ดำเนินการมัดลายผ้ามัดหมี่ต้นแบบ โดยชาวบ้านชุมชนตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ 3.ดำเนินการย้อมสีธรรมชาติ โดยชาวบ้านชุมชนตำบลกลันทา อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 4.ดำเนินการพัฒนาลวดลาย และทอผ้ามัดหมี่ต้นแบบ โดยชุมชนตำบลลำดวน อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์  และสุดท้าย 5.ดำเนินการออกแบบและตัดเย็บ เสื้อผ้าบุรุษสไตล์เมโทรเซ็กซวลด้วยวิธีการตัดต่อ  ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากแบรนด์ “Hugo Boss produced the uniforms of the  German army 1934 Collection”  จำนวน 3 คอลเลกชัน และสอบถามความพึงพอใจของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อการออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่ จำนวน 5 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใยและสิ่งทอ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเสื้อผ้าบุรุษ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพิจารณาแบบสอบถามในงานวิจัย และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการตอบแบบสอบถามความพึงพอใจ อาทิ  Designer, Visual merchandiser, Graphic designer, และผู้มีประสบการณ์ด้านการทอผ้า จำนวน 30 คน

นายเกชา ลาวงษา กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญได้ผลสรุปว่า ด้านกระบวนการผลิต คุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาทอมีความเหมาะสม คุณภาพการทอเนื้อแน่นเรียบสม่ำเสมอทั้งผืน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพึงพอใจที่มีต่อผ้ามัดหมี่จากเส้นด้ายผสม โดยรวมมีค่าเฉลี่ย 4.94 ได้รับความพึงพอใจในระดับมากที่สุด เมื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า มีความเหมาะสมของวัสดุที่ใช้ และลวดลายผ้ามัดหมี่ในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์  ด้านสีสัน มีความเหมาะสมและลงตัว ความสม่ำเสมอของสี การออกแบบลวดลายผ้ามีความละเอียด คมชัดสม่ำเสมอ ลวดลายโดดเด่น น่าสนใจ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และแปลกใหม่ และมีความเหมาะสมของระยะการจัดวางลวดลาย ส่วนด้านความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อเสื้อผ้าบุรุษสไตล์เมโทรเซ็กชวลด้วยวิธีการตัดต่อ เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยรวมจากทุกรายข้อของการประเมิน พบว่า เสื้อโค้ทตัวยาว (Overcoat) รูปแบบที่ 5 ได้รับความพึงพอใจเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ เสื้อสูท (Suit) รูปแบบที่ 3, เสื้อโค้ทตัวยาว (Overcoat) รูปแบบที่ 4, เสื้อสูท (Suit) รูปแบบที่ 2, และเสื้อกั๊ก (Vest) รูปแบบที่ 1 รูปแบบเสื้อผ้าบุรุษสไตล์เมโทรเซ็กชวลด้วยวิธีการตัดต่อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า รูปแบบเสื้อผ้าบุรุษสไตล์เมโทรเซ็กชวลด้วยวิธีการตัดต่อ มีความสวยงาม ประโยชน์ใช้สอย สีสัน และวิธีการตัดต่อลวดลาย มีระดับความพึงพอใจระดับมากที่สุด

“อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อเสนอแนะผู้วิจัยนำไปต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาเส้นด้ายผสมระหว่างเส้นใยฟิลาเจน กับเส้นด้ายในกลุ่มอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาเส้นด้ายที่สามารถเพิ่มมูลค่างานหัตถกรรมการทอผ้าของกลุ่มชุมชนในท้องถิ่นต่าง ๆ อีกทั้งผลักดันการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาบูรณาการสู่การพัฒนาศักยภาพชุมชนอย่างยั่งยืน  ซึ่งผู้วิจัยจะนำข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญไปต่อยอดในการพัฒนาและสร้างสรรค์ลวดลายผ้ามัดหมี่ที่มีความทันสมัย ในกลุ่มเสื้อผ้าบุรุษในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป รวมถึงส่งเสริมแนวคิดการพัฒนารูปแบบเสื้อผ้าที่สามารถตอบสนองความต้องการ  และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของกลุ่มที่มีรสนิยมหลากหลาย โดยการนำแนวคิดและอัตลักษณ์ของความเป็นไทยผสมผสานความเป็นสากลเพิ่มมากขึ้น”  ทั้งนี้ผลงานการประยุกต์เส้นใยไหม -เส้นใยฟิลาเจน ออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่ ได้ทำการจดสิทธิบัตรลวดลายผ้ามัดหมี่ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว ”ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยได้ที่ โทรศัพท์ 097 140 5304 นายเกชา ลาวงษา กล่าว

พุทธชาติ/ข่าว