จากการขยายตัวของโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น การนำแนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในการเสริมสร้างคุณค่าและการพึ่งพิงตนเองด้านเศรษฐกิจไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคง และดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ดร.ธานี สุคนธชาติ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ศึกษาข้อมูลโครงสร้างประชากรของประเทศไทย พบว่าจังหวัดชัยนาทเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มาตั้งแต่ปี 2537 และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีที่ร้อยละ 20.1 ซึ่งสูงกว่าค่าร้อยละของประเทศไทย ที่ประชากรกลาง ปี พ.ศ. 2560 ของประเทศ มีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 17.125 ของประชากรรวม และจากการคำนวณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าจังหวัดชัยนาทติดอันดับที่ 6 ของประเทศ ที่มีดัชนีการสูงวัยในทุกอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอมโนรมย์ อำเภอวัดสิงห์ อำเภอสรรพยา และอำเภอสรรคบุรี จากข้อมูลข้างต้น จึงเกิดแนวคิดการใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญา สร้างต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุเข้มแข็ง
ดร.ธานี สุคนธชาติ กล่าวว่า ชุมชนบ้านห้วยกรด ตำบลสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท เป็นพื้นที่ปลูกต้นตาลโตนดที่สำคัญของภาคกลาง ประชากรทำน้ำตาลเป็นอาชีพเสริมรองจากการทำนาตลอดทั้งปี จึงพบว่ามีวัสดุเหลือทิ้ง ได้แก่ ใบตาล ก้านตาล คางตาล เปลือกตาล และเมล็ดตาล โดยชุมชนได้นำวัสดุเหลือทิ้งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ไม้นวดก้านตาล ชะลอม ตะกร้อ และปลาตะเพียนสาน ดังนั้นจึงคิดต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นตาลโตนด ให้เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีรายได้ โดยการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1.การออกแแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกเชิงการท่องเที่ยวจากวัสดุเหลือทิ้งในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ตาลโตนด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ใบตาล จักสานเป็นโคมไฟ กระเป๋า ก้านตาล และคางตาล ผลิตเป็นโคมไฟ เก้าอี้ กล่องใส่ของท้ายรถมอเตอร์ไซค์ ชั้นวางผลิตภัณฑ์ เมล็ดตาล สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ประยุกต์ศิลป์ของที่ระลึกประจำจังหวัด ได้แก่ นกเงือกจากกะลาตาล 2. การออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบพึ่งพาตนเอง สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปจากตาลโตนด สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าจำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้าตราชาวตาล 1 แบบ และภาพแสดงเอกลักษณ์ 1 แบบ ได้แก่ ภาพแสดงเอกลักษณ์รูปกระบอกตาล บรรจุภัณฑ์ขนมตาลเสียบไม้ ลูกตาลลอยแก้ว น้ำตาลสด น้ำตาลโตนดก้อน น้ำตาลโตนดกึ่งแข็ง ขนมกง ข้าวหมากน้ำตาลสด บรรจุภัณฑ์ถุงผ้า น้ำตาลโตนดเชื่อม (syrup) และบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ไม้นวดจากคางตาล
ดร.ธานี สุคนธชาติ กล่าวอีกว่า 3. การพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร “เครื่องกรีดใบตาลเพื่อการจักสาน” และอุปกรณ์สนับสนุนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชุมชน เป็นเครื่องจักรที่ออกแบบและพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกและลดเวลาการทำงานของผู้สูงอายุ ช่วยในการกรีดเส้นใบตาลให้มีขนาดเท่ากัน เพื่อให้ง่ายต่อการจักสานเป็นผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยการพัฒนาได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ว่าที่เรือตรี ดร.ทรงวุฒิ มงคลเลิศมณี และ ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเครื่องดังกล่าวออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้ง่าย ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น กลไกไม่ซับซ้อน สามารถซ่อมแซมได้เอง วัสดุอุปกรณ์สามารถหาซื้อเปลี่ยนได้ภายในพื้นที่ ใช้งานโดยผู้สูงอายุที่เป็นสุภาพสตรีได้ ซึ่งผลการทดลองพบว่า ปริมาณการกรีดใบตาลขนาด 3 มิลลิเมตร ได้ปริมาณเส้นใบตาลมากที่สุด ที่ 13.3 เส้น ใช้เวลาเฉลี่ยที่ 37 วินาที หรือ 1,294 เส้น/ชั่วโมง ในขณะที่ขนาด 5 และ 8 มิลลิเมตรสามารถกรีดได้ 1,154 และ 882 เส้น/ชั่วโมง ซึ่งผลผลิตที่ได้มากกว่าการใช้แรงงานคนถึง 14.7 - 21.5 เท่า และยังกำหนดขนาดวัตถุดิบได้แม่นยำอีกด้วย ส่วนผลการศึกษาขั้นตอนการพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์แบบพึ่งพาตนเอง ได้ทำการทดสอบการผลิตบรรจุภัณฑ์ และทดสอบการบรรจุโดยผู้สูงอายุ จำนวน 30 คน พบว่าผู้สูงอายุสามารถทำได้ทั้งเพศชายและหญิง และมีการพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงแบบอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการสำรวจผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากตาลโตนด ได้รับความพึงพอใจจากผู้บริโภค คิดเป็นร้อยละ 80 จากปัจจัยด้านราคา ด้านความงาม การสื่อสาร วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีรายได้
“จากความสำเร็จของโครงการสามารถตอบโจทย์แนวคิด BCG Model สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รองรับสังคมผู้สูงอายุ การดำเนินกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งพาตนเองอย่างสร้างสรรค์ ตามนโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ ด้านสังคมผู้สูงอายุ โดยการนำผลงานและนวัตกรรมของกลุ่มผู้สูงอายุภายใต้ตราสินค้าชาวตาล ซึ่งได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : เครื่องหมายการค้า เข้าร่วมการแสดงผลงานในงานมหกรรมความยั่งยืน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยผลสัมฤทธิ์คือชุมชนผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีหน่วยงานภายนอกให้การตอบรับในการออกร้านและนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่องอีกมากมาย ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยโครงการ eisa (Education Institute) ส่วนเครื่องกรีดใบตาลเพื่อการจักสาน ขณะนี้กำลังดำเนินการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา นับได้ว่าเป็นต้นแบบการใช้ประโยชน์จากทุนในชุมชน เป็นแนวทางสำคัญในการนำพาชุมชนไปสู่ความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี” ดร.ธานี กล่าว