ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และในปัจจุบันผู้สูงอายุรวมไปถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นมากมาย แต่หนึ่งในปัญหาหลักที่พบในผู้สูงอายุคือ อนุมูลอิสระในร่างกายที่เพิ่มขึ้น แต่กลับมีการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระที่ลดลง ส่งผลเสียต่อสุขภาพและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคชรา โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความจำเสื่อม เป็นต้น โดยปกติแล้วร่างกายสามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระได้เองหรือได้รับจากการรับประทานผักผลไม้และสมุนไพรชนิดต่าง ๆ แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่สามารถรับประทานผักและผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระได้อย่างเพียงพอ ซึ่งมีปัจจัยหลายประการ เช่น ความสามารถในการเคี้ยวลดลง สุขภาพเหงือกและฟันไม่แข็งแรง ต่อมรับรสทำงานได้ไม่ดี และภาวะเบื่ออาหาร จากข้อมูลข้างต้น ทีมวิจัยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ประกอบด้วย นายปรินทร์วริศร์ ปังประเสริฐกุล นายปณิธาน วีระโอฬารกุล นางสาวณุจุฑา ธรรมสุเมธ ดร.ณุจุฑา ธรรมสุเมธ ครูสาขาวิชาเคมี และ ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช อาจารย์สาขาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่ปรึกษาวิจัย จึงได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์เจลลีอ้ายอวี้ผสมตรีผลา เพื่อเป็นอาหารทางเลือกที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพ อีกทั้งรับประทานง่าย
ดร.ณุจุฑา ธรรมสุเมธ ครูสาขาวิชาเคมี กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ตรีผลาที่มีวางขายส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของเครื่องดื่ม ซึ่งมีรสชาติขมและฝาดรับประทานยาก จึงทำให้ไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากนัก ส่วนการรับประทานในรูปแบบของยาเม็ดหรือแคปซูลก็อาจจะเกิดปัญหาสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการกลืน โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้สูงวัย นอกจากนี้การรับประทานตรีผลาแบบเครื่องดื่มหรือแบบต้มจะเกิดการดูดซึมได้ดีกว่า จึงให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการรับประทานแบบแคปซูล ดังนั้นการนำมาทำเป็นอาหารเสริมรูปแบบเจลลี จึงกลายเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สำหรับผู้มีปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์และปรับปรุงรสชาติให้หลากหลาย ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เกิดความเบื่อหน่ายในอาหารเสริมรูปแบบเดิมและมองหาผลิตภัณฑ์แบบใหม่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้เจลลีอ้ายอวี้ได้มาจากการคั้นเมือกจากเมล็ดอ้ายอวี้ เป็นพืชจำพวกมะเดื่อเถา โดยเมือกที่ได้มีสารเพกติน ใช้เป็นส่วนประกอบในเจลลี จุดเด่นคือสามารถแข็งตัวที่อุณหภูมิห้อง ทำให้ไม่เสียคุณค่าทางสารอาหาร โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจสลายตัวจากความร้อนในขั้นตอนของการเกิดเจล ซึ่งต่างจากสารเพกทินที่มาจากแหล่งอื่นในธรรมชาติ เช่น แอปเปิล และผลไม้ตระกูลซิตรัส (ส้ม เกรปฟรุต) ส่วนมากต้องใช้กรดและอุณหภูมิสูงในการทำให้เจลลีแข็งตัวนั่นเอง
ด้าน ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช กล่าวว่า โดยการวิจัยได้ศึกษาหาอัตราส่วนของเมล็ดอ้ายอวี้ที่เหมาะสมในการผลิตเป็นเจลลีสมุนไพร จากนั้นนำสมุนไพรที่เป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม สมอเทศ โกจิเบอร์รีแดง โกจิเบอร์รีดำ ตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม) และจตุผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อง สมอเทศ) มาวิเคราะห์ค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวม (TAC) และหาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมด (TPC) และเลือกสมุนไพรที่มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงมาผสมในผลิตภัณฑ์เจลลีอ้ายอวี้ จำนวน 2 สูตร คือสูตรเจลลีอ้ายอวี้ตรีผลา และสูตรเจลลีอ้ายอวี้ตรีผลาผสมชะเอมเทศ ซึ่งจากการทดสอบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวม พบว่าสมุนไพรที่ให้สาร TAC สูงที่สุดคือตรีผลา และสมุนไพรที่ให้สาร TPC สูงที่สุดคือสมอพิเภก และด้านการทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัส พบว่าเจลลีตรีผลาที่มีการเติมชะเอมเทศ มีคะแนนความพึงพอใจในภาพรวมมากที่สุด เนื่องจากมีรสชาติกลมกล่อม และลักษณะภายนอกน่ารับประทานมากกว่า
“ผลิตภัณฑ์เจลลีอ้ายอวี้สูตรสมุนไพรตรีผลาต้านอนุมูลอิสระ ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน The 24th International Elements Fair (IEF 2023) จัดโดย Anderson Serangoon Junior College สาธารณรัฐสิงคโปร์ และรางวัลชมเชย จากการประกวดผลงานวิชาการการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาอีกด้วย ซึ่งทีมวิจัยจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คาดว่าจะพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด เพื่อเป็นอาหารทางเลือกในรูปแบบของเจลลีที่เคี้ยวและกลืนได้สะดวกสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่เพียงพอ นอกจากนี้จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปประยุกต์กับตำรับสมุนไพรไทยชนิดอื่น ๆ เพื่อเป็นนวัตกรรมอาหารเสริมรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพอย่างแท้จริง” ผศ.ดร.สิริรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ราชมงคลพระนคร โทรศัพท์ โทร 0 2836 3000 ต่อ 4156, 4159 หรือสาขาวิชาเคมี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โทรศัพท์ 0 2027 7850 ต่อ 622