ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ตลาดชุมชนเก่าแก่ที่แอบซ่อนอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ย่านชุมชนชาวมุสลิม ตลาดแห่งนี้กำเนิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งในปัจจุบันย่านนี้กลายเป็นย่านพหุวัฒนธรรม 3 ความเชื่อ 3 ศาสนา (พุทธ คริสต์ อิสลาม) มีอาหารฮาลาลโบราณที่หารับประทานยากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสูตรต้นตำรับระดับตำนาน รสชาติดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาหลายรุ่น ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างการประชาสัมพันธ์ตลาดฮาลาลโบราณของชุมชน ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมอาหารฮาลาลของตลาดให้มีความโดดเด่น และส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงให้อยู่คู่กับชุมชน ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครจาก 4 คณะ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน และคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ จำนวน 10 คน โดยได้นำองค์ความรู้ที่เรียนมาบูรณาการทักษะในการปฏิบัติงานจริง และนำมาต่อยอดพัฒนาการบริหารจัดการชุมชนตลาดเพื่อให้เกิดความอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนโดยธนาคารออมสิน จนคว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขันกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น “โครงการออมสินยุพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ประจำปี 2566”
นายธราธร เบญจรงค์ นักศึกษาสาขาวิชาระบบสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ประธาน พ่อค้าแม่ค้าในตลาด พบว่าการดำเนินกิจกรรมภายในตลาดขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งด้านสังคมวัฒนธรรม พบว่าขาดการสืบทอดองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นจากคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นหลังซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรกลุ่มผู้สูงอายุไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีมากนัก อย่างไรก็ตามตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 มีความโดดเด่นเรื่องของอาหารฮาลาลที่หารับประทานยากในปัจจุบัน และยังเป็นตลาดฮาลาลแห่งแรกในกรุงเทพฯ อีกด้วย ดังนั้นทีมงานจึงได้ข้อสรุปในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาการตลาด (Digital Marketing) การสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับชุมชนตลาด ซึ่งช่วยให้สามารถให้บริการสินค้าและบริการเพิ่มเติมในรูปแบบออนไลน์ได้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การจัดกิจกรรมตลาดชุมชน การจัดทำบัญชีครัวเรือน การวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อเพิ่มผลกำไร และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แก่สมาชิกชุมชน
นายธราธร เบญจรงค์ กล่าวต่อว่า กระบวนการทำงาน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกเป็นการสำรวจพื้นที่รอบชุมชนและพื้นที่ในชุมชน เขตบางคอแหลม และสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยว พื้นที่ใกล้เคียงตลาด เสวนาหาแนวทางพัฒนาร่วมกับสมาชิกชุมชนและหน่วยงานภาคี เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของชุมชน และศึกษาเส้นทางท่องเที่ยว 3 ศาสนา 3 วัฒนธรรม ระยะที่ 2 การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และสื่อ Digital Platform ได้แก่ จัดทำและติดตั้งป้าย โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ จัดทำแผนที่ตลาด จัดทำกล่องบรรจุภัณฑ์อาหารในรูปแบบ Box Set สำรับอาหารฮาลาลโบราณ และพัฒนาสูตรอาหารว่าง (Snack Box โรตีโรย) ระยะที่ 3 สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายและสื่อประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย จำนวน 3 ช่องทางประกอบด้วย 1. Application : ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 2. Instagram : Charoenkrugn103_market 3.TikTok : Charoenkrugn103_market และระยะสุดท้าย การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ได้แก่ การถ่ายทำสื่อวิดีโอแนะนำอาหารฮาลาลโบราณ การสอนทำบัญชีครัวเรือน การทำบัญชีต้นทุนจากแอปพลิเคชันออมตัง โดยธนาคารออมสิน การแนะนำการใช้แอปพลิเคชันตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 และการสอนการใช้สื่อบริการในทางธุรกิจ (Digital Platform)
ด้านนายณพงศ์ ขำทวี นักศึกษาสาขาวิชาระบบสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 กล่าวว่า ในส่วนการพัฒนาแอปพลิเคชันตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 เน้นการใช้เทคโนโลยีแบบง่าย ๆ ที่ตอบโจทย์สังคมเมืองยุคใหม่ ตอบโจทย์ทุกวิถีชีวิต ไม่ว่าจะกินเที่ยวช้อป การใช้งานเพียงสแกนคิวอาร์โค๊ด ภายในแอปฯ จะแบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ เพื่อสร้างการรับรู้ที่มีต่อตลาด บอกเล่าถึงสถานที่ตั้ง ร้านอาหารฮาลาลแนะนำกว่า 80 ร้านค้า พร้อมปักหมุดเส้นทางการเดินภายในตลาดและชุมชน เพื่อความสะดวกในการค้นหา รวมถึงศึกษาประวัติความเป็นมาของสถานที่ และวิธีการมาตลาด เพื่อให้ท่องเที่ยวตลาดได้สนุกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จากการสำรวจการใช้งานแอปพลิเคชันกับกลุ่มเป้าหมาย พบว่า แอปพลิเคชันได้รับการตอบรับในภาพรวมระดับดีมาก ทั้งความสวยงาม ความทันสมัย เมนูต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการใช้งาน มีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ ภาพประกอบตัวอักษรเหมาะสม พิกัดร้านค้ามีความแม่นยำ ช่วยให้คนภายนอกชุมชนได้รู้จักอัตลักษณ์ของชุมชนที่แท้จริง และช่วยเพิ่มนวัตกรรมให้กับชุมชนในอนาคตได้จริง
“โครงการนี้นอกจากช่วยส่งเสริมและยกระดับภูมิปัญญาของชุมชนโดยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยจัดการติดต่อซื้อ-ขายแล้ว ในส่วนของนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการก็ได้รับประสบการณ์ตรงจากการทำงานร่วมกับชุมชนเครือข่าย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบูรณาการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยนักศึกษาสามารถช่วยให้คนนอกชุมชนเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของชุมชนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ในอนาคตจะพัฒนาในเรื่องของการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และการเพิ่มช่องทางการรีวิวสินค้าในตลาดของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการตลาดให้ผู้อื่นได้ทราบต่อไป อยากฝากถึงนักศึกษาทุกคนให้กล้าที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะจะทำให้เราได้แสดงความสามารถ และได้เรียนรู้การใช้ชีวิตจริงที่หาไม่ได้จากห้องเรียน” นายธราธร เบญจรงค์ กล่าว