News

มทร.พระนคร คิกออฟ จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร เป็นประธานการประชุมเริ่มงาน (Kick Off) การจัดทำแผนพัฒนา มทร.พระนคร ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 - 2570) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมดิเรกฤทธิ์ ชั้น 2 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.พระนคร ศูนย์เทเวศร์ และประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยมีทีมที่ปรึกษาจากบริษัท ก่อ เกิด ผล จำกัด ได้แก่ รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา, ดร.พรมณี ขำเลิศ และว่าที่ร้อยตรี ชัยรัตน์ อุดมเดชะ ชี้แจงกระบวนการในการจัดทำแผนร่วมกับผู้บริหาร ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีและผู้อำนวยการสถาบัน/สำนัก/กอง/ศูนย์ ของมทร.พระนคร เพื่อร่วมทำแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในระยะเวลา 5 ปี

ดร.พรมณี กล่าวว่า ในการจัดทำแผนพัฒนา มทร.พระนคร ฉบับที่ 13 นี้ เนื่องด้วย มทร.พระนคร มีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนายุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยฯระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 -2570) ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยยุทธศาสตร์คือแผนที่ที่แสดงอนาคต เป็นเข็มทิศนำทางไปสู่ความสำเร็จไว้ตามความมุ่งหวัง มหาวิทยาลัยฯ จึงให้ความสำคัญกับการบริหารเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ภายใต้การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งบริบทภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย สอดคล้องกับการพัฒนาสถาบันการศึกษา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 - 13 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 หรือแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากนโยบายดังกล่าว การวางยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรอย่างมาก โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายจากผู้บริหารสู่บุคลากร การวางมาตรการระยะสั้น ปานกลาง ยาว ควรมีการวางแผนงานการขับเคลื่อนทั้งจากภายในและภายนอกไปพร้อม ๆ กัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมในทุกด้านที่ต้องมีมุมมองจากที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เกิดองค์ประกอบในการทำงานในปัจจุบันให้ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรมและสามารถขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพระดับโลกที่มีมาตรฐานและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีภาพมหาวิทยาลัยร่วมกัน มองเห็นตำแหน่งของตนเอง รู้จุดแข็งจุดอ่อน (SWOT) จัดลำดับความสำคัญของประเด็น SWOT มองหาความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ และรู้สมรรถนะองค์กรเชิงยุทธศาสตร์ ก่อนที่จะกำหนดทิศทาง วิสัยทัศน์ พันธกิจ ภารกิจ ค่านิยมร่วม ตลอดไปจนถึงการกำหนดแผนที่ยุทธศาสตร์ และการเชื่อมโยงยุทธศาตร์ชาติด้วย X-Matrix ต่อไป