Research

‘Go Samut Songkhram’ แอปพลิเคชันเทคโนโลยีท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ต้นแบบ Smart Tourism Model

การพัฒนาจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองรอง โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง เพื่อวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว อันมีความสำคัญต่อการเติบโตของประเทศ จากการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาและสนับสนุนเศรษฐกิจจากฐานราก  ในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นำทีมโดย ดร.นิตินันท์ ศรีสุวรรณ  ผู้อำนวยการกองวิชาการและพัฒนาคณาจารย์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์  ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เมืองรองจากชุมชนเล็กเชื่อมโยงสู่ชุมชนใหญ่ด้วยสื่อดิจิทัล จังหวัดสมุทรสงคราม” เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นการทำวิจัย ว่า เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลได้กำหนดเลือกจังหวัดท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเมืองรองจำนวน 9 จังหวัดที่ยังมีการเติบโตด้านรายได้จากการท่องเที่ยว หรือมีรายได้ในระดับปานกลาง แต่เป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการสามารถยกระดับรายได้เพิ่มขึ้นหากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านนวัตกรรม  ทั้งนี้  มทร.พระนคร ได้คัดเลือกจังหวัดสมุทรสงครามเป็นพื้นที่วิจัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการทำความร่วมมืออยู่เดิมแล้ว และมีศักยภาพในการพัฒนา เนื่องจากมีทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมสูง พร้อมที่จะพัฒนาในมิติของเทคโนโลยีสำหรับท่องเที่ยวเมืองรอง  ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาเป้าหมายในชุมชนพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เมื่อมาเที่ยว จ.สมุทรสงคราม มักจะโฟกัสไปที่จุดท่องเที่ยวใหญ่สำคัญ ๆ โครงงานวิจัยจึงเป็นการกำหนดการทำให้พื้นที่จุดเล็ก ๆ หรือชุมชนย่อย ที่เป็น Hidden zone และมีการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว มีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปตามเส้นทางย่อยนี้  ส่งผลให้เกิดการกระจายตัวในเชิงเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว และลดการแออัดในการท่องเที่ยวจุดใหญ่

ดร.นิตินันท์ ศรีสุวรรณ  กล่าวว่า การตกผลึก 3 สื่อดิจิทัลที่ใช้ในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์  ได้แก่ แอปพลิเคชันบนมือถือ แผ่นพับประชาสัมพันธ์พร้อม QR Code และการทำคลิปวิดีทัศน์แนะนำแหล่งท่องเที่ยว  นักวิจัยได้ใช้กระบวนการวิจัยระบบ Participatory action research โดยมีการวางแผนประชุม และปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างภาคท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ ตัวแทนชุมชน ภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อออกแบบเส้นทางย่อยที่เชื่อมโยงจุดใหญ่ได้อย่างมีเสน่ห์ และสามารถแนะนำนักท่องเที่ยวให้เดินทางได้จริง ซึ่งเส้นทางที่เกิดขึ้น ได้แก่ (1) เส้นทางวิถีเกลือสมุทร ชุมชนบ้านบางกระบูน  (2) เส้นทางวิถีประมงดอนหอยหลอด-คลองโคน (3) เส้นทางสุขใจวิถีไทยไหว้พระเก้าวัด และ (4) เส้นทางสายน้ำสามเวลาและโฮมสเตย์เสน่ห์ชุมชน  ที่ชวนให้สัมผัสและแลกเปลี่ยนประสบการณ์  ทั้งนี้สื่อดิจิทัลที่จับต้องได้  3 ประเภทอันเป็นผลผลิตทางด้านเทคโนโลยีของงานวิจัย ได้แก่ 1.แอปพลิเคชันบนมือถือ 'Go Samut Songkhram'  ผ่านระบบ Android  โดยแอปพลิเคชันดังกล่าว จะมีลักษณะเสมือนเป็นผู้ช่วยส่วนตัว ที่ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว มีการระบุ Google Map ในลักษณะเส้นทางเชื่อมโยง ตอบโจทย์การวางแผนการท่องเที่ยวระยะสั้น รวมถึงมีข้อมูลชุมชน ข้อมูลร้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวตามแผนที่ปรากฏในแอปพลิเคชันได้อย่างแม่นยำทันที และสิ่งสำคัญคือ มีช่องทางการติดต่อกับชุมชน และขอความช่วยเหลือเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย  2.แผ่นพับแนะนำเส้นทางการท่องเที่ยว 4 เส้นทาง พร้อม QR Code และ 3.สื่อวีดีทัศน์แนะนำแหล่งท่องเที่ยวสำหรับชาวไทย ที่ปรากฏบนช่อง YouTube ทั้งนี้ ผลสรุปงานวิจัยโดยภาพรวม สามารสืบค้นหาได้ที่ http://www.thai-explore.net/search_detail/result/11081  สำหรับผลผลิตงานวิจัยในด้านสื่อดิจิทัลนี้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มชุมชนที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการทำการตลาดท่องเที่ยว  รวมถึงเป็นตัวช่วยในการวางแผนการเดินทางในยุค New Normal ให้กับนักท่องเที่ยว ผ่านการสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ๆ และสิ่งสำคัญคือ ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักชุมชนเล็ก ๆ ที่เป็นเสน่ห์ของสมุทรสงครามมากขึ้น

ดร.นิตินันท์ ศรีสุวรรณ  กล่าวอีกว่า  ขณะนี้งานวิจัยคืบหน้าเป็นการต่อยอดผลผลิตวิจัยด้านเทคโนโลยีเช่นเดิม แต่เจาะลึกไปในเชิงด้านมิติของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เนื่องจากเล็งเห็นถึงความต้องการและศักยภาพของชุมชนในจังหวัดสมุทรสงคราม ที่โดดเด่นมากในเชิงการเกษตร  และในสถานการณ์โควิด-19 ถึงแม้การท่องเที่ยวซบเซา แต่สิ่งหนึ่งที่ขายได้ดีสำหรับคนเมืองคือ ผลผลิตทางอาหารและการเกษตร ดังนั้นในเฟส 2 ที่กำลังดำเนินการจะ เป็นการส่งเสริมสินค้าเกษตรอาหาร ของชุมชนให้มีช่องทางในการขายในพื้นที่ออนไลน์มากขึ้นไปพร้อมกับการปรับตัวและเตรียมตัวพื้นที่ทางการท่องเที่ยว เพื่อให้สมุทรสงคราม มี Positioning เป็นการท่องเที่ยวเชิงอาหาร Food Tourism และเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองในเชิงต้นแบบของ Smart City หลังเศรษฐกิจพลิกฟื้นจากสถานการณ์โควิด-19 โดยภาพรวมเป็นการให้ชุมชนนำสินค้าผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปอาหารของท้องถิ่นที่มากคุณค่ามาทำการจำหน่ายในช่องทางสื่อต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นการทำประชาสัมพันธ์เชิงการตลาดแฝงการท่องเที่ยวในอนาคตไปในตัว

“ทีมนักวิจัยเชื่อว่า ผลผลิตจากงานวิจัยนี้จะมีส่วนผลักดันให้ จ.สมุทรสงคราม มีความชัดเจนทางด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบเชิงอาหาร (Food tourism)  พร้อมกันนี้ภาคีท่องเที่ยวในจังหวัดได้ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา และร่วมกันสร้างเมืองรองแห่งนี้ให้เป็นหนึ่งใน Model of a Smart Tourism City  ซึ่งอาจช่วยสร้างรายได้อย่างมหาศาลจนอาจขึ้นแท่นเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักในอนาคตหลังพลิกฟื้นจากสถานการณ์โควิด-19 แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทีมวิจัยตระหนักคือ การตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรของตนเอง  เพราะชุมชนเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง การเข้าไปวิจัยได้คำนึงถึงสิ่งที่ชุมชนมีอย่างพอเพียง ไม่ต้องทำสิ่งใดอื่นต่อเพิ่มเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว เพียงแค่สานต่อและบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี และท้ายสุดเมื่อทำวิจัยเสร็จสิ้นนักวิจัยออกจากพื้นที่ ชุมชนก็ยังมีเทคโนโลยีไว้สานต่อเพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยว  เมื่อชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเองก็จะทำให้พวกเขาอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนนั่นเอง The key to sustainability is to encourage locals to learn how to manage themselves”  ดร.นิตินันท์ ศรีสุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย