ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality : AR) มาประยุกต์ใช้ในด้านการติดต่อสื่อสาร ด้านธุรกิจ ด้านการแพทย์ และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่นำมาใช้สำหรับการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้ดึงดูดความสนใจของผู้เรียนมากขึ้น รวมถึงเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นการจัดการเรียนการสอน การสร้างเครื่องมือสื่อการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและสืบแสวงหาองค์ความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการศึกษาพบว่าการนำเทคโนโลยีความจริงเสริม มาใช้ในห้องสมุดมีแนวโน้มที่ผู้ใช้บริการให้ความชื่นชอบและสนใจศึกษาหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ นางสาวญาณี ละลิ่ว นางสาวธัญญารัตน์ จันทร์บุณณะ และนายปิยะวัฒน์ มีทรัพย์ นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีความจริงเสริม มาสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนแบบการสืบเสาะหาความรู้บนเว็บไซต์ (inquiry-based learning) โดยการพัฒนาสื่อการสอนวิชาดาราศาสตร์ ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบางบัวทอง โดยมุ่งหมายให้นักเรียนง่ายต่อการเข้าถึงเนื้อหาบทเรียน ง่ายต่อการจดจำ และทำให้ผู้เรียนมีความสนใจเนื้อหาบทเรียนวิชาดาราศาสตร์มากขึ้น โดยมี ดร.เมธิญาณินฆ์ คำขาว เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ
นางสาวธัญญารัตน์ จันทร์บุญณะ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา กล่าวว่า สื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่เป็นตัวกลางที่มีความสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล โดยเครื่องมือเหล่านี้ช่วยดึงดูดใจ เปิดโลกการเรียนรู้กว้างไกลต่อผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสื่อการเรียนการสอนที่ครูนำมาสอนส่วนใหญ่มักจะมีการพัฒนาไปตามการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางเทคโนโลยี เพื่อจะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจมากขึ้น อย่างเช่น สื่อ CAI บทเรียนออนไลน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีเสมือนจริง ที่มีลักษณะเด่นในเรื่องของการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้คนทุกกลุ่ม ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีความจริงเสริมใน 3 ด้าน คือ การท่องเที่ยว การโฆษณา และการศึกษา นับเป็นเทคนิคหนึ่งในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผลงานการออกแบบสื่อการเรียนการสอนดังกล่าว ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีความจริงเสริม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมด้านการเรียนดาราศาสตร์ หัวข้อระบบสุริยะในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งง่ายต่อการเข้าถึงเนื้อหาบทเรียน ง่ายต่อการจดจำ และทำให้ผู้เรียนมีความสนใจเนื้อหาบทเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแบบทดสอบหลังเรียนเพื่อวัดผลการเรียนรู้จากการใช้สื่อการสอนที่นำเสนอด้วย
สำหรับหลักการทำงาน คือ นำเทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality : AR) มาทำงานโดยใช้ AR Code หรือ AR Marker เป็นส่วนที่ใช้ในการกำหนดมุมมอง และตำแหน่งที่ใช้ในการวางภาพ 3 มิติหรือวัตถุเสมือนจากนั้นกล้องจะเป็นตัวจับภาพของ AR Code (ที่ได้ทำการสร้างขึ้นไว้ก่อนแล้ว) และทำการส่งต่อภาพไปยังคอมพิวเตอร์ที่บรรจุโปรแกรม AR ทำการวิเคราะห์ AR Code และทำการเลือกภาพหรือวัตถุที่ตรงกับ AR Code นั้น ๆ จากนั้นจึงส่งภาพหรือวัตถุที่เลือกไว้ไปแสดงผลทาบลงบน AR Code ในหน้าจอแสดงผล ก็จะสามารถเห็นภาพ 2 มิติ หรือ AR code ในรูปแบบ ภาพ 3 มิติหรือภาพเสมือนจริงได้
นางสาวธัญญารัตน์ จันทร์บุญณะ กล่าวอีกว่า การพัฒนาสื่อการสอนวิชาดาราศาสตร์ ผู้วิจัยสร้างบทเรียนโดยใช้โปรแกรม Maya ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Windows บทเรียนมีลักษณะเป็นบทเรียนสำเร็จรูปแบบนำเสนอเนื้อหา ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความต้องการของตนเอง และโต้ตอบกับบทเรียนได้ โดยมีคุณสมบัติครอบคลุมทางด้านมัลติมีเดียประกอบด้วย ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพกราฟิก ตัวอักษร เสียงบรรยาย โดยรูปแบบเนื้อหาประกอบด้วย ชื่อบทเรียน เมนูหลัก เนื้อหาบทเรียน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียนและแจ้งคะแนน ด้านในส่วนของบทเรียนจะมีเนื้อหา อาทิ ดวงอาทิตย์และบริวาร ดาวเคราะห์และบริวารในระบบสุริยะ ทั้งนี้จากการประเมินคุณภาพของบทเรียนจากความพึงพอใจของผู้ใช้งาน พบว่าด้านเนื้อหา ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.88 คือมีคุณภาพในระดับดีมาก ด้านเทคนิคการผลิตสื่อ ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.67 คือมีคุณภาพในระดับดีมาก และบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 91.33/89.33 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ตามที่ตั้งไว้
“ดิฉันเชื่อว่าสื่อการสอนเรื่องดาราศาสตร์ สามารถนำไปใช้สอนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีความรู้ความเข้าใจวิชาวิทยาศาสตร์สูงขึ้น รวมถึงเกิดความสนใจใฝ่รู้และนำความรู้ไปใช้ในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม อีกทั้งเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาชุดการสอนในวิชาอื่น ๆ ต่อไป” นางสาวธัญญารัตน์ กล่าว