News

อาจารย์ราชมงคลพระนคร ได้รับคัดเลือก ร่วมปฏิบัติภารกิจกับองค์การนาซา เพื่อร่วมศึกษาวิจัยคุณภาพอากาศเชิงลึกของประเทศไทยในโครงการ ASIA-AQ พร้อมเปิดต้นตอปัญหา PM 2.5 สู่แนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว

ดร.วรนุช ดีละมัน อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เข้าร่วมภารกิจปฏิบัติการศึกษาคุณภาพอากาศเชิงลึกของประเทศไทย ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA -AQ)  โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา (NASA)  ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)   และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  เพื่อทำการบินวิจัยศึกษาสภาพคุณภาพอากาศในประเทศไทย ช่วงระหว่างวันที่ 16-25 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา  โดยมีทีมนักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ของประเทศไทยได้รับโอกาสให้ร่วมปฏิบัติภารกิจกับองค์การนาซา หลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ดร.วรนุช ดีละมัน อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า  นับเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ทำงานวิจัยกับนักวิจัยของ NASA  ซึ่งผลที่ได้จะช่วยให้นักวิจัยด้านอากาศของประเทศไทยมีความเข้าใจและได้รับข้อมูลเชิงลึกมากยิ่งขึ้น  ทั้งนี้ระยะการทำงานได้ขึ้นปฏิบัติการโดยเครื่องบิน  McDonnell Douglas DC-8  ทำการบินสำรวจสารเคมีในชั้นบรรยากาศ ภาคกลางถึงภาคเหนือ จำนวนทั้งสิ้น 4 เที่ยวบิน โดยบินเหนือท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดระยอง  ถึงสนามบินเชียงใหม่  และปฏิบัติการโดยเครื่องบิน Gulfstream III ของ Langley Research Center  (G-lll)  ทำการบินสำรวจคุณภาพอากาศจากระยะไกลบริเวณกรุงเทพมหานคร  ผ่านอุปกรณ์ LiDAR  ที่เก็บข้อมูลความเข้มข้นของโอโซน และฝุ่น PM 2.5  พร้อมกับทำแผนที่การปล่อยแก๊สเรือนกระจกเป็นวงกว้าง เหนือเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 5 รอบ  ซึ่งข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์เครื่องมือวิจัยคุณภาพอากาศจะเป็นแบบเรียลไทม์ เหนือชั้นบรรยากาศที่มนุษย์อาศัยอยู่ PBL (Planetary Boundary Layer)   บนน่านฟ้าประเทศไทย “นับเป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึกที่เป็นระบบที่สุดเท่าที่เคยทำมา  ในการทำความเข้าใจปัญหาฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศของไทย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจรากแท้ของปัญหา เพื่อที่จะได้สามารถนำเสนอแนวทางในการแก้ไขอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ดร.วรนุช ดีละมัน กล่าวอีกว่า  สิ่งสำคัญที่สุดคือ  ผลลัพธ์สำคัญจากโครงการนี้ องค์การนาซา จะทำการเปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะประโยชน์  ให้เป็นมาตรฐานทั่วไปของวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งข้อมูลที่ได้ จะช่วยให้นักวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศนำมาศึกษาทำความเข้าใจปัญหาฝุ่นละอองของไทย  และสามารถนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกขององค์ประกอบในชั้นบรรยากาศที่พบเพื่อแก้ปัญหาได้ถูกจุดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นแก๊สเรือนกระจก มลภาวะที่เกิดจากมนุษย์ ขนาด ค่าการสะท้อนแสงของละอองลอย รวมไปถึงตัวอย่างอากาศที่ถูกเก็บเอาไว้จากชั้นบรรยากาศโดยตรง (in-situ measurements) จะช่วยให้เข้าใจถึงการกระจายตัวของมลภาวะ ทั้งในเชิงแนวราบและแนวดิ่ง  อาทิ  ข้อมูลอัตราส่วนระหว่างแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ต่อคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) การเผาชีวมวล CO/CO2 จากเครื่องยนต์สันดาปภายในรถยนต์ เป็นต้น โดยข้อมูลที่ได้ จะชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหามลพิษที่ประสบนั้นมีต้นกำเนิดมาจากสาเหตุใดกันแน่  ซึ่งนักวิจัยทุกศาสตร์ ทุกแขนงทั่วโลก สามารถนำข้อมูลส่วนต่าง ๆ ไปเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ละบุคคลต่อไป  รวมถึงนักวิจัยไทยเองสามารถนำข้อมูลมาผลักดันผลงานวิจัย ให้นำไปสู่ทางออกในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน  “ผลการวิจัยนี้ อาจสามารถยืนยันสมมติฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมลพิษทางอากาศหลาย ๆ อย่างที่มนุษย์สงสัยกันมาตลอด และในขณะเดียวกันก็อาจนำมาซึ่งการค้นพบอีกหลายประการที่ไม่อาจคาดคิด  ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าผลการศึกษานั้นจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยในวันนี้ สามารถพูดได้ว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำความเข้าใจในปัญหาฝุ่นละอองในประเทศไทยอย่างเป็นระบบที่สุด ซึ่งในส่วนของตนจะนำข้อมูลที่เก็บได้นี้ มาวิจัยเพื่อศึกษาหาแหล่งกำเนิดที่ปลดปล่อยสารมลพิษและประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนต่อไป”  ดร.วรนุช ดีละมัน กล่าว