ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร)เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าส่งออกในลำดับต้นของประเทศไทยมายาวนาน ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องพัฒนาบุคลากรด้านอัญมณีและเครื่องประดับเป็นการเร่งด่วน โดยการยกระดับบุคลากรในประเทศ ให้เข้าถึงเครื่องมือและเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ตามนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (Value–Based Economy) การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ Startup หรือยกระดับ SME การสร้างแบรนด์สินค้าของคนไทย โดยคำนึงถึงการผลิตบัณฑิตที่ต้องมีความรู้ความสามารถและความชำนาญที่หลากหลาย มีทักษะของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การผลิตเพื่อลดต้นทุน สร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และประกอบอาชีพจนสามารถเป็นผู้ประกอบการ ที่ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้เปิดทำหลักสูตรใหม่ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาอัญมณีรังสรรค์ (Bachelor of Fine Arts Program in Creative Jewelry) พ.ศ.2565 ภายใต้สถาบันอัญมณี เครื่องประดับไทย และการออกแบบ มทร.พระนคร จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี 4 ปี ตามมาตรฐานคุณวุฒิปริญญาตรีสาขาศิลปกรรมศาสตร์ โดยมุ่งมั่นให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ มีความรู้ทางด้านวิชาการและมีทักษะด้านปฏิบัติ ที่สามารถทำงานในสถานประกอบการได้เป็นอย่างดี สอดรับกับความต้องการของสถานประกอบการหรือผู้ใช้บัณฑิต เน้นการพัฒนาการเรียนการสอนแบบเชิงรุกที่ให้ผู้เรียนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยีโดยเฉพาะ เพื่อฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะด้านวิชาชีพ การคิดวิเคราะห์ การแสดงออกเชิงสร้างสรรค์รวมไปถึงฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบันอย่างเข้มงวด รองรับการแข่งขันการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีจุดเด่นคือบัณฑิตมีคุณภาพและความพร้อมที่สามารถออกปฏิบัติงานได้ทันที มีศักยภาพสูงในการพัฒนาตนเอง ให้เข้ากับลักษณะงานทั้งด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพ รวมถึงสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดต่อหน่วยงาน สังคม ประเทศชาติ นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากงานจริงในสถานประกอบการ มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน ได้แก่ สมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับไทยและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย, บริษัทเบสท์วัน จิวเวล แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เป็นต้น
ด้าน นายวิเชียร มหาวัน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันอัญมณี เครื่องประดับไทย และการออกแบบ กล่าวเสริมว่า อาชีพที่นักศึกษาสามาถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา อาทิ นักออกแบบและพัฒนาด้านผลิตอัญมณี เครื่องประดับ ผู้ผลิต ผู้ประกอบธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ผู้ดูแลระบบอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ผู้สอนและนักวิชาการด้านการออกแบบเครื่องประดับ นักตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า และนักออกแบบอิสระ (Freelance) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องประดับ เป็นต้นทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรการเรียนการสอน หรือสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ ทั้งห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ เครื่องมืออุปกรณ์ ให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ขณะนี้เปิดรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 10 คน เข้าศึกษาต่อหลักสูตรศิลปบัณฑิต (ศล.บ.) 4 ปี ภาคปกติ ประจำปีการศึกษา 2565 รอบรับตรง รอบที่ 1 โดยผู้สนใจยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ - 22 กุมภาพันธ์ 2565 ยื่นใบสมัครทางเว็บไซต์ www.rmutp.ac.th เข้าสู่เมนูรับสมัครนักศึกษาตลอด 24 ชั่วโมง และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สอบถามเพิ่มเติมที่ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน โทรศัพท์ 0 2665 3777 ต่อ 6302-9 และ 6636