News

มทร.พระนคร แจงปมกรณีเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย

จากกรณีทีมีการนำเสนอข่าว การคัดค้านการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เป็น มหาวิทยาลัยพระนคร ตาม (ร่าง) พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยพระนคร พศ... (พ.ร.บ. ม.พระนคร) นั้น เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ศ.ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ชี้แจงในกรณีดังกล่าวว่า ก่อนหน้าปี 2519 บรรดาโรงเรียนช่างกล พณิชยการ เป็นโรงเรียนสังกัดกรมอาชีวศึกษา ดังนั้น สมาคมต่างๆ ที่จัดตั้ง จึงเป็นสมาคมที่จัดตั้งภายใต้กรมอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ในปี พ.ศ.2519 เป็นปีที่โรงเรียนอาชีวศึกษา รวม 29  แห่ง แยกตัวจากกรมอาชีวศึกษา จัดตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ซึ่งจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี และ ปวช. ปวส. ที่ค้างอยู่

ต่อมาในปี พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ ทรงโปรดเกล้าพระราชทานนามชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หลังจากนั้นได้มีการยกระดับระบบการศึกษา จึงทำให้มีการปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อ พ.ศ.2548 ซึ่งมีการรวมกลุ่มวิทยาเขตใกล้เคียงกันจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง และหนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งประกอบด้วย 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พณิชยการพระนคร ศูนย์เทเวศร์ ศูนย์โชติเวช และศูนย์พระนครเหนือ ต่อมาสืบเนื่องจากนโยบายจากภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้มหาวิทยาลัยรัฐเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือที่เรียกว่าการออกนอกระบบ มทร.พระนคร ได้มีการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหารายได้เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยได้อย่างยั่งยืน จึงได้มีจัดทำร่าง พ.ร.บ. ม.พระนคร ผ่านกระบวนการยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อทำให้เกิดการทำงานคล่องตัวในการบริหารจัดการ และไม่เกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งมีการทำประชาพิจารณ์ ในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. 2562 และได้มีการปรับปรุงจนมีการนำเสนอร่างฯ ต่อสภา มทร.พระนคร เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ด้วยมติสภาเห็นชอบในการรับร่าง พ.รบ. 22:4 ส่วนตนนายกสภาซึ่งเป็นประธาน ไม่ได้ใช้สิทธิออกเสียงด้วย

ในกรณีที่มีสมาคมศิษย์เก่า เช่น สมาคมศิษย์เก่าพณิชยการพระนคร และสมาคมนักเรียนเก่าช่างกลพระนครเหนือ ออกมาคัดค้านนั้น ตนคิดว่าเป็นคนที่ยึดติดกับการเป็นสถาบันเก่าก่อนหน้าปี 2518  ซึ่งผ่านมานานกว่า 45 ปีแล้ว ซึ่งการแสดงออกเช่นนี้ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคม

ศ.ดร.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยนั้น นับตั้งแต่ยกร่างพระราชบัญญัติมานานกว่าสามปี มหาวิทยาลัยได้มีการหารือว่าควรจะมีการสร้างภาพลักษณ์และสร้างการจดจำใหม่ให้กับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งตนทราบดีว่าประเด็นการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่ได้หมายความว่าชื่อ มทร.พระนคร นั้นไม่ดี  แต่ในเชิงการตลาด การรับรู้ของสังคมมีภาพจำว่าเป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ ซึ่งแผนพัฒนามหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคตนั้น จะมีการขยายพื้นที่การศึกษา มีการเปิดสาขาวิชาใหม่ อาทิ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขากสิกรรมศาสตร์ ทั้งนี้ การใช้ชื่อ ม.พระนครนั้นก็เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ใหม่และภาพลักษณ์ใหม่แก่มหาวิทยาลัย ให้มีความทันสมัย ไม่เป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกมองว่าอยู่ในแนวอนุรักษ์นิยม และหากใช้ชื่อมหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร ก็จะซ้ำซ้อนกันกับมหาวิทยาลัยราชมงคลอื่น เนื่องมาจากมีชื่อร่วมกัน ดังเช่น มทร.ธัญบุรี ที่เตรียมออกนอกระบบโดยใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ในการออกนอกระบบ เพราะยังคงคล้ายคลึงกับการเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่อยู่ในพวงเดิม ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถฉีกแนวการพัฒนาให้เปลี่ยนแปลงไปในแนวทางความก้าวหน้าที่แตกต่างจากภาพลักษณ์เดิมๆ

สภามหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นในประเด็นชื่อราชมงคลเป็นนามพระราชทานไม่แตกต่างจากผู้อื่น และศึกษาเรื่องนี้ด้วยความละเอียดอ่อนเป็นเวลาหลายปี และได้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนามพระราชทานได้เกิดขึ้นเสมอมา แม้ในปัจจุบันก็ยังมีการพบเห็น เช่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา และทางมหาวิทยาลัยตระหนักว่า หากได้มีการผ่านเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งถือเป็นพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบรมราชโองการเป็นพระราชอำนาจอันสูงสุดอยู่แล้ว

ทางมหาวิทยาลัยยังคงไม่ทิ้งรากเดิมของตนเอง โดยคงชื่อสร้อยคำว่าพระนครไว้ เนื่องจากหากพิจารณาในระดับสากลแล้ว ในประเทศต่างๆ จะมีการนำชื่อเมืองมาตั้งเป็นชื่อมหาวิทยาลัย ซึ่งชื่อจังหวัดพระนคร ก็เป็นชื่อเดิมก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ตั้งของ มทร.พระนคร ในปัจจุบัน ที่ศูนย์ต่างๆ ล้วนอยู่ในพื้นที่ที่เรียกได้ว่าใจกลางพระนคร ทั้งนี้ขั้นตอนในการดำเนินการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ยังต้องมีการพิจารณาอีกหลายชั้น โดยหลังจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมีมติรับร่าง พ.ร.บ. ม.พระนคร แล้ว ยังมีขั้นตอนการเสนอร่างต่อ กกอ. เสนอร่างต่อ ครม. เสนอร่างต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนนำเสนอร่างต่อ ครม. และนำเสนอร่างสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติและประกาศใช้ต่อไป ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ยื่นเรื่องร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยพระนคร (มพ.) เป็นมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แล้ว “ผมเชื่อว่าทางกระทรวงจะเข้าใจในเรื่องของการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้ก้าวหน้าในอนาคต และเป็นการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวยังจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับมหาวิทยาลัย และรองรับการหารายได้ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย” นายกสภา มทร.พระนคร กล่าว