News

9 มทร. ร่วมกำหนดแผนยุทธศาสตร์ พร้อมสานต่อนโยบาย รมว.อว. มุ่งพัฒนากำลังคน/วิจัย ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและยุทธศาสตร์ชาติอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568  พลโทชัยณรงค์ กิจรุ่งโรจน์เจริญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมด้วย ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีฯ  และคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  เข้าร่วมรับมอบนโยบาย จากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในโอกาสเป็นประธานเปิดโครงการ “Retreat ยุทธศาสตร์  9 มทร.”  ณ โรงแรมฮิลตัน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวง อว. และยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อการผลิตและพัฒนากําลังคนรองรับการเปลี่ยนของภาคอุตสาหกรรม และตอบโจทย์อนาคตที่สำคัญของประเทศ โดยมี รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ ประธานที่ประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ ประธานที่ประชุมนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปนอ.มทร.)  รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร ประธานร่างยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 - 2574  และคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร  9 มทร. เข้าร่วม

ในโอกาสนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ได้กล่าวถ้อยแถลงว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนสายปฏิบัติ การวิจัยเชิงประยุกต์ และการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์พื้นที่และประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม การจัดโครงการ Retreat ยุทธศาสตร์ 9 มทร. จึงเป็นเวทีที่จะได้ร่วมกันทบทวน วิเคราะห์ และกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของทั้ง 9 มทร. เพื่อให้สามารถก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงนโยบายของกระทรวง   “โดยนโยบาย “อว. for AI” ในส่วนของ AI for Education มุ่งเน้นให้คนไทยสามารถ “ใช้ AI ได้” และ “สร้าง AI เป็น” อย่างมีประสิทธิภาพและจริยธรรม พร้อมผลักดันมหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่ “AI University” และ “Education 6.0” อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการวางระบบหลักสูตรและความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายให้บัณฑิตไทยร้อยละ 90 มีความรู้พื้นฐานด้าน AI และร้อยละ 50 มีทักษะการใช้ AI อย่างแท้จริง ภายในปีที่ 2 ของการศึกษา พร้อมตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้าน AI ให้ได้อย่างน้อย 30,000 คน ภายใน 3 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ระดับผู้เชี่ยวชาญ (AI Professional) วิศวกร (AI Engineer) จนถึงผู้เริ่มต้น (AI Beginners)  ซึ่งกระทรวง อว. พร้อมให้การสนับสนุนในทุกมิติ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างความเข้มแข็งด้านวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนมีบทบาทเชิงรุกในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศอย่างยั่งยืน”  รมว.อว. กล่าว

ด้าน รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ ประธานที่ประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.)  กล่าวว่า โครงการ Retreat ยุทธศาสตร์ 9 มทร. จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องจาก 9 มทร. ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงาน วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความท้าทายของ 9 มทร. รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ  โดยคาดหวังว่างานในครั้งนี้ได้มาซึ่งแผนยุทธศาสตร์ 9 มทร. ที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริง อันจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ในการผลิตกำลังคนคุณภาพ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีโลกต่อไป  อีกทั้งราชมงคลทั้ง 9 แห่ง จะร่วมกันสานต่อนโยบายของกระทรวง อว. ในการพัฒนา AI University โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาไทยให้มี AI literacy สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพในโลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พุทธชาติ/ข่าว