วันที่ 23 เมษายน 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยสถาบันสหวิทยาการดิจิทัลและหุ่นยนต์ ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy, MARA) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล โดยมี ผศ.ดร.ปริญญ์ บุญกนิษฐ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และพัฒนานวัตกรรม ราชมงคลพระนคร เป็นประธานในการลงนามกับคุณสมเกียรติ อู่เงิน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ณ สถาบันสหวิทยาการดิจิทัลและหุ่นยนต์
ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวว่า โลกในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ความรู้ และนวัตกรรม การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงจำเป็นที่จะต้องผลิตกำลังคนให้พร้อมต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ราชมงคลพระนคร ในฐานะหน่วยงานการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ ปัจจุบันได้นำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม มาปรับใช้พัฒนาระบบการเรียนการสอน และด้านการบริหารเพื่อสร้างสรรค์ความคิดที่แตกต่าง ดังนั้นการลงนามความเข้าใจครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกำลังที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการผลิตบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการนำการวิจัย และร่วมกันพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เพื่อนำมาพัฒนาฝีมือแรงงาน (Skill Development) และส่งเสริมทักษะระดับปฏิบัติการยุคใหม่ให้มีทักษะฝีมือที่เป็นเลิศรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) และการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0
ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวต่อว่า การสร้างสื่อสำหรับการฝึกอบรมรูปแบบอัจฉริยะ (Smart e-learning/e-training/MOOC) จะช่วยยกระดับทักษะการปฏิบัติงาน โดยมีการกำหนดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบ Up-skill ให้กับกำลังคนในสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการยกระดับฝีมือการปฏิบัติงานของตน รูปแบบ Re-skill ผู้ที่อยู่ในสาขาวิชาชีพอื่น แต่มีความสนใจงานด้านดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สามารถเรียนรู้ให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมเข้าสู่การจ้างงานและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด และรูปแบบ New skill กลุ่มกำลังคนและแรงงานใหม่ นักศึกษา นักเรียนสถาบันอาชีวศึกษาที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้เป็นผู้ที่มีสมรรถนะวิชาชีพ สุดท้ายการส่งเสริมการพัฒนาผลงานวิจัยร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนากำลังคน ตลอดจนสนับสนุนให้บุคลากรของหน่วยงานได้รับการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพต่อไป