Research

มทร.พระนคร ไอเดียเจ๋ง! ผลิตนมจากถั่วดาวอินคา สำหรับผู้แพ้นมวัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่านมจากสัตว์ อย่างเช่น นมวัว นมแพะ เต็มไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ยังมีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะขาดเอนไซม์ในการย่อยแลคเตส (lactase deficiency) กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือมังสวิรัติที่ไม่สามารถบริโภคนมจากสัตว์ได้  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ออกกำลังกายซึ่งมีความต้องการนมที่ให้โปรตีนสูง แต่การดื่มนมวัวนั้นจะได้รับปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอลที่สูงตามไปด้วย ทำให้ไม่ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการแต่โปรตีน  จึงทำให้แหล่งโปรตีนเพื่อสุขภาพ  เช่นโปรตีนที่มาจากพืชปราศจากคอเลสเตอรอล กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้นมวัว (cow milk allergy)  และผู้ที่รักสุขภาพ  นมจากพืช จึงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจ  โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กระแสของฟังก์ชั่นนัลฟู้ด (functional food) จึงทำให้  ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช  อาจารย์สังกัดหมวดวิชาเคมี  สาขาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมจากพืชที่สามารถตอบโจทย์นวัตกรรมทางอาหารแนวใหม่ (novel food)  ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับคนทุกเพศวัย

ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช  กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์นมโปรตีนสูง สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่รักการออกกำลังกายและผู้รักสุขภาพที่สกัดจากถั่วเกิดขึ้นมากมาย โดยทิศทางอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทั่วโลกต่างมุ่งไปสู่การพัฒนาสินค้าตอบโจทย์สุขภาพ ซึ่งเป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม ดังนั้นงานวิจัยนี้ได้นำถั่วดาวอินคาจากไร่ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีคุณสมบัติเด่นแตกต่างจากถั่วอื่น ๆ ได้แก่ โปรตีน และโอเมกา 3, 6, 9 ทดแทนการใช้น้ำนมวัว  ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะสามารถพัฒนาเป็นเครื่องดื่มนมถั่ว ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวและผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส รวมถึงผู้บริโภคที่รับประทานมังสวิรัติ และรักสุขภาพ โดยจากการวิจัย พบว่าถั่วดาวอินคาอบมีโปรตีนสูงถึง 55.59% และยังเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยมีกรดไลโนเลอิกสูงที่สุด และกรดไขมันต่าง ๆ ได้แก่ แอลฟาไลโนเลนิก ซึ่งเป็นกรดไขมันที่สร้างกรดไขมันโอเมกา 3  มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางสมองและสติปัญญา โดยร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้  นอกจากนี้ยังพบว่ามีกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับเด็กคือฮีสทิดีน และยังมีสารประกอบฟีนอลิก มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ชะลอการแก่ก่อนวัยอีกด้วย

ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช  กล่าวถึงขั้นตอนงานวิจัยได้ทำการศึกษาคุณสมบัติทางเคมี คุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติทางจุลชีววิทยาของนมถั่วดาวอินคาหลังจากการสกัดน้ำมัน  ว่าได้วิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ 1 หน่วยบริโภค 180 มิลลิลิตร ได้รับพลังงานทั้งสิ้น 110 กิโลแคลอรี ในขณะที่ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุประกอบด้วย วิตามินบีหนึ่ง 2% แคลเซียม 4% และเหล็ก 4%  ส่วนด้านการทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัสของอาหารโดยเปรียบเทียบกับนมอัลมอนด์ พบว่านมจากถั่วดาวอินคามีกลิ่นและรสถั่วรุนแรงกว่า แต่เนื่องด้วยผลวิจัยด้านคุณค่าทางอาหารสูง โปรตีนสูง มีไขมันดีที่มีประโยชน์ และมีโอเมกา 3 6 9 รวมถึงไม่มีไขมันทรานส์และคอเลสเตอรอล จึงทำให้สามารถดึงดูดและชักจูงผู้บริโภค  โดยสามารถแต่งกลิ่นและรส ซึ่งผู้ผลิตต้องนำไปพัฒนารสชาติของนมให้ถูกปากผู้บริโภคต่อไป  “นับว่าถั่วดาวอินคา มีศักยภาพที่ดีในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นมทดแทนนมวัว ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือเกษตรกร โดยการนำความรู้จากการวิจัยไปส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาด ในวงการอาหารที่แปลกใหม่ปราศจากสารเคมี และมีประโยชน์ต่อสุขภาพแก่ผู้บริโภคสูงสุด อย่างไรก็ตามผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยที่  ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช อีเมล sirirat.pan@rmutp.ac.th