News

ราชมงคลพระนคร เปิดคอร์สเรียนออนไลน์ 5 หลักสูตร ฟรี! เพิ่มทักษะการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีพันธกิจในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้พร้อมเป็น "นวัตกรบูรณาการ" ที่มีความรอบรู้ มีความสามารถในการปรับตัว และรับมือกับความท้าทายได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการสร้างสรรค์งานวิจัย และต่อยอดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและชุมชน ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ มหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี นวัตกรรม และการบูรณาการ ซึ่งมุ่งเน้นจัดการศึกษา การส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่ส่งเสริมนักศึกษาให้เน้นการปฏิบัติ  รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน  โดยพัฒนามหาวิทยาลัย ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างประโยชน์ สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน ในแนวคิด เพื่อโลกใบใหม่ - การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี สู่ทุกมิติของยุคสังคมเมือง (The Next World - Beyond the Urban Society)

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี กล่าวว่า จากพันธกิจดังกล่าวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ก่อตั้งสถาบันอัญมณี เครื่องประดับไทยและการออกแบบ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางทางด้านการส่งเสริมทักษะการทำงานด้านการออกแบบและผลิตอัญมณีและเครื่องประดับไทย ให้กับนักศึกษา ผู้ประกอบการ บุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ และเป็นหน่วยงานที่รองรับ การวิเคราะห์ ตรวจสอบ รับรองอัญมณีและโลหะมีค่า การออกแบบและผลิตเครื่องประดับอัญมณี โดยได้เปิดให้บริการต่อหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนขึ้น รวมถึงการเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ในหลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาอัญมณีรังสรรค์ ที่มุ่งผลิตบัณฑิตนักออกแบบ และนักพัฒนาผลิตภัณฑ์อัญมณี เครื่องประดับ รองรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะสูงในด้านนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล กล่าวอีกว่า  นอกจากการผลิตบัณฑิตรองรับตลาดแรงงานแล้ว สถาบันอัญมณี เครื่องประดับไทยและการออกแบบ ยังมุ่งมั่นในการเผยแพร่องค์ความรู้ แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับอัญมณี และเครื่องประดับ เข้ามาเรียนรู้ผ่านคอร์สอบรมระยะสั้นต่าง ๆ ทั้งเสียค่าใช้จ่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย  โดยปัจจุบันได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบการเรียนการสอนด้วย Integrated e-Learning Platform ซึ่งได้นำองค์ความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับในแต่ละด้าน จากวิทยากรผู้มีประสบการณ์ในการทำงานจริงมาถ่ายทอดแก่ผู้เรียนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการประกอบอาชีพ หรือเพิ่มเติมความรู้ให้แก่ตนเอง

ด้าน นายวิเชียร มหาวัน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สถาบันอัญมณี เครื่องประดับไทย และการออกแบบ กล่าวว่าหลักสูตร e-Learning Platform ได้บรรจุเนื้อหาการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ จำนวนปีละ 15 โมดูล รวมทั้งโครงการ 75 โมดูล  เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้  โดยไม่จำกัดเวลา และไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยแต่ละโมดูลผู้เรียนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนไปกับคลิปวิดีโอการสอนได้เป็นอย่างดี  และง่ายต่อการนำไปใช้  ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานด้านศิลปะ หรือเครื่องประดับก็สามารถเรียนได้  ประกอบด้วย  5 หลักสูตร  ได้แก่ 1.การประดับอัญมณีบนตัวเรือนเครื่องประดับ เกี่ยวกับการฝังอัญมณีในตัวเรือน การทำเครื่องประดับ ลักษณะการฝังอัญมณี  เนื้อหาประกอบด้วย การประดับอัญมณีแบบไร้หนาม แบบหุ้มขอบ แบบหนามเตย และแบบไข่ปลา  2.การขึ้นรูปพรรณแว็กซ์ เกี่ยวกับการทำต้นแบบเครื่องประดับด้วยมือ (แกะแว็กซ์) Jewelry Wax Carving  เนื้อหาประกอบด้วย การขึ้นรูปพรรณแว็กซ์  การแกะและเติมแต่งรายละเอียดรูปพรรณแว็กซ์  3.การขึ้นรูปพรรณโลหะเครื่องประดับ เกี่ยวกับการขึ้นรูปพรรณโลหะเครื่องประดับด้วยมือ หรือตัวเรือนเครื่องประดับด้วยทักษะฝีมือของช่าง  เนื้อหาประกอบด้วย การเลื่อยและฉลุลายโลหะ การสร้างชิ้นส่วนโลหะจัดเรียงประกอบ การสร้างชิ้นส่วนโลหะร้อยมัดประกอบ การเคาะขึ้นรูปพรรณโลหะ การเตรียมโลหะเพื่องานรูปพรรณ 4. การออกแบบด้วยการวาดเขียน เกี่ยวกับการวาดรูปทรงต่าง ๆ ของอัญมณีเจียระไน การระบายสี หลักการเลือกสวมใส่เครื่องประดับ เนื้อหาประกอบด้วย การเขียนประยุกต์ลายไทยเพื่อการออกแบบ การลงสีในแบบงานเครื่องประดับ การเขียนลายไทย    ในงานเครื่องประดับ การเขียนแบบเครื่องประดับ การออกแบบร่างแบบเครื่องประดับ  และหลักสูตรใหม่ล่าสุด 5.การแกะลวดลายโลหะ เกี่ยวกับศิลปะการตกแต่งและการเจาะรูปแบบต่าง ๆ บนวัตถุที่เป็นโลหะ เนื้อหาประกอบด้วย การสร้างชิ้นงาน เหล็กแกะ ความรู้ทั่วไปของการแกะสลักลวดลายโลหะ

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเรียนผ่านทางเว็บไซต์ https://igjd-educenter.com/  โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  สถาบันอัญมณี เครื่องประดับไทยเเละการออกเเบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พระนครเหนือ โทรศัพท์  02 665 3777 ต่อ 4214