จากจุดเริ่มต้นที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นำโดย ผศ.ดร.ภคพนธ์ ศาลาทอง หัวหน้าหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ได้รับเชิญจากนายอำเภอเมือง จ.กาญจนบุรี ในการเป็นที่ปรึกษาร่วมถอดบทเรียนเพื่อทำแผนการพัฒนา “เมืองกาญจน์ เมืองแห่งความสุข” โดยเทศบาลตำบลท่ามะขามเป็นพื้นที่นำร่องหรือต้นแบบเมืองแห่งความสุข ประกอบด้วย การเสริมสร้างความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่ และการบริหารจัดการกิจกรรมนันทนาการเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในเทศบาลตำบลท่ามะขาม จึงได้เริ่มต้นการถอดบทเรียนเพื่อทำแผนการพัฒนา โดย นางสาวชฎาพร จีนชาวนา อาจารย์กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และทีมวิจัย ประกอบด้วยผศ.ทรงสิริ วิชิรานนท์ และอาจารย์ระวิวรรณ ธรณี ร่วมกันทำวิจัย เรื่อง “การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่” งบประมาณรายจ่ายปี 2563 เพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยวตำบลท่ามะขาม
นางสาวชฎาพร จีนชาวนา กล่าวว่า โครงการพัฒนาและการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์วัดราษฎร์ประชุมชนาราม (วัดท่ามะขาม) จังหวัดกาญจนบุรี จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและเก็บรวมรวมประวัติความเป็นมาของวัดท่ามะขาม ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสร้างการรับรู้และการท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระครูกาญจนปริยัติคุณ (พระมหาชุมพร ปิยธมฺโม ป.ธ.ต.) รับตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย การจัดทำป้ายประวัติวัดราษฎร์ประชุมชนาราม (วัดท่ามะขาม) การจัดทำแผ่นพับประวัติฉบับภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ซึ่งได้ความร่วมมือในการแปลภาษาจาก ดร.สุวรรณา เข็มแดง และอาจารย์ทิพย์อาภา ศรีรัตนะ และอาจารย์อังคณา แวซอเหาะ ร่วมจัดทำโครงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์
นางสาวชฎาพร จีนชาวนา กล่าวอีกว่า ภายหลังเสร็จสิ้นทีมงานได้ทำการถวายสื่อประชาสัมพันธ์ แด่ท่านพระครูกาญจนปริยัติคุณ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ประชุมชนาราม (วัดท่ามะขาม) เพื่อใช้ในการจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมสะพานข้ามแม่น้ำแคว ให้สามารถเดินทางมาทำบุญและท่องเที่ยวที่วัดได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยจะเปิดตัวสื่อประชาสัมพันธ์ภายในงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว และงานกาชาดจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี 2563 ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน จนถึงต้นเดือนธันวาคม 2563 “ดิฉันเล็งเห็นบทบาทของนักวิจัยที่จะต้องนำงานวิจัยมาเกิดเป็นรูปธรรมจริง และนักวิจัยต้องเป็นประโยชน์แก่ชุมชนไม่ใช้ไปใช้ประโยชน์จากชุมชน อยากให้มหาวิทยาลัยก้าวสู่การเป็น มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน” นางสาวชฎาพร กล่าว