เมื่อวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยคณะบริหารธุรกิจ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ลงพื้นที่จัดโครงการ Creative Young Designer Season 2 พัฒนาวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย บ้านเสารีก อ.พนา จ.อำนาจเจริญ และโรงเรียนอนุบาลลืออำนาจ (ชุมชนเปือยหัวดง) อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ ภายใต้โครงการ Educational institute Support Activity (EISA) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือ ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ การแปรรูปผ้าขาวม้าทอมือให้กับชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนผู้ผลิต และยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในการเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ่านการแลกเปลี่ยนวิถีชีวิตร่วมกันระหว่างชุมชนผู้ผลิตให้เกิดไอเดียและนวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกัน
อาจารย์วิรัลพัชร อสัมภินพงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ กล่าวว่า คณะบริหารธุรกิจได้นำอาจารย์และนักศึกษาจำนวน 11 คน บูรณาการความรู้ในรายวิชาการตลาดดิจิทัล วิชาการตลาดกิจกรรม วิชาการจัดการตราสินค้า วิชากลยุทธ์และการวางแผนการตลาด ด้วยการนำเทคโนโลยีในด้านพาณิชยกรรมออนไลน์ ไปพัฒนาและให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ การทำการตลาดออนไลน์ การจัดวางและตกแต่งหน้าร้าน การขายและการนำเสนอขาย รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าให้แก่ชุมชน นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่โรงเรียนอนุบาลลืออำนาจ ซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นต่อไปที่จะสานต่อความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนผนวกกับองค์ความรู้จากคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งจะทำให้มีความเข้มแข็งในเรื่องการทำการตลาดและเป็นกำลังให้ชุมชนมีความยั่งยืนมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ด้าน ดร.ธานี สุคนธะชาติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบได้นำอาจารย์และนักศึกษาจำนวน 19 คน นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโลโก้ และออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างตราสินค้า เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยการถอดแบบจากสิ่งที่มีอยู่ภายในชุมชนหรือพื้นที่ อาทิ การทำแม่พิมพ์สบู่ การทำพวงกุญแจเรซิ่น การทำผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากเมล็ดต้นตะแบก การทำสบู่สมุนไพรจากการแกะลวดลายจากธรรมชาติ การเพิ่มมูลค่าเศษผ้าขาวม้า ผ้าไหมทอมือ ในการทำปกวุฒิบัตร การผลิตผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากเส้นด้ายหรือเส้นไหมเหลือทิ้งจากการแปรรูป การออกแบบตราโลโก้ แบรนด์ชฎาทิพย์ เพื่อใช้ในการจดทะเบียนตราสินค้า รวมถึงการวางผังบริเวณและสร้างโมเดลต้นแบบ แหล่งโบราณสถานเสมาพันปี ต.เปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ
ขณะที่ ดร.กรชนก บุญทร อาจารย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น กล่าวว่า คณะนำอาจารย์และนักศึกษาจำนวน 12 คน ไปถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการย้อมเส้นใยฝ้าย เส้นใยไหมด้วยสีธรรมชาติจากพืชในพื้นถิ่น การย้อมคราม การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือ การออกแบบลวดลายผ้าขิด และลวดลายผ้ามัดหมี่ การพิมพ์ลวดลายผ้าด้วยวิธีสเตนซิล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดลวดลายผ้าทอ ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าผ้ามัดหมี่ และผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนต่อไป
นับเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมให้นักศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการ Creative Young Designers ได้เปิดมุมมองเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม และนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชน ด้วยการรวมพลังคนรุ่นใหม่ มาร่วมสร้างสรรค์อัตลักษณ์ผ้าขาวม้าทอมือ โดยการบูรณาการความรู้ด้านการออกแบบและด้านการบริหารธุรกิจในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนผู้ผลิตต้นน้ำที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบการแปรรูปผ้าขาวม้าทอมือให้มีความทันสมัย ให้เป็นที่รู้จักในสากล และสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนโครงการฯ คือชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป