News

ราชมงคลพระนคร ชู 3 งานวิจัยเด่น สร้างความยั่งยืน-ยกระดับชุมชน

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) กล่าวว่า ในปีนี้มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพระดับประเทศที่มีมาตรฐานและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศได้อย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “ราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี นวัตกรรม และการบูรณาการ” โดยผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาการและวิชาชีพขั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติ รวมถึงจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการวิจัย บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และตอบโจทย์ต่อความต้องการของประเทศ โดยการจัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ครั้งนี้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นของราชมงคลพระนคร ประกอบด้วย โครงการการพัฒนากระบวนการล้างใบชาขลู่เพื่อลดปริมาณสารพิษการประเมินฤทธิ์ทางเภสัชเคมีและประสาทสัมผัสเพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าของชาใบขลู่ลุงแกละสมุนไพรชาใบขลู่ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนากระบวนการแปรรูปเส้นใยใบอ้อย ออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ลดปัญหาการเผาทำลายด้านเกษตรกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น และการพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตยผลิตภัณฑ์จากฝาขวดน้ำรีไซเคิล โดยนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สำหรับผลงานวิจัยเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ที่จะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

“ในปีที่ผ่านมาราชมงคลพระนครยังได้สนับสนุนให้นักวิจัยมีการจดทะเบียนงานทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งหมด 136 ผลงาน ประกอบด้วย สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ 90 ผลงาน อนุสิทธิบัตร 23 ผลงาน การจดแจ้งลิขสิทธิ์ 21 ผลงาน และสิทธิบัตรการประดิษฐ์  2 ผลงาน ซึ่งเป็นการผลักดันงานด้านวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพไปสู่กระบวนการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำงานวิจัยไปแก้ปัญหาได้ตรงความต้องการจริงของภาคอุตสาหกรรม” อธิการบดีกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวหน้าโครงการการพัฒนากระบวนการล้างใบชาขลู่ เพื่อลดปริมาณสารพิษ เล่าว่า ลุงแกละชาใบขลู่และวิสาหกิจชุมชนบ้านสันดาป เกิดจากการรวมตัวกันของชุมชนพันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เพื่อช่วยให้ชาวบ้านได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยการนำพืชสมุนไพรใบขลู่ซึ่งเป็นวัชพืชที่เติบโตใกล้ป่าชายเลนจำนวนมากในท้องถิ่นมาแปรรูป ซึ่งมีสารพฤกษเคมีมากมายหลายชนิดที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ แต่อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนลุงแกละ ยังไม่ได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์โอทอประดับ 5 ดาว เนื่องด้วยความไม่พร้อมด้านโรงเรือนสถานที่ และกระบวนการผลิตขลู่อบแห้ง ที่มีการตรวจพบเชื้อราและยีสต์เกินระดับมาตรฐานที่กำหนด คณะผู้วิจัยเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาจึงได้มีการวิจัย พัฒนากระบวนการล้างใบขลู่ เพื่อลดปริมาณสารพิษ สำหรับควบคุมคุณภาพการผลิตสมุนไพรใบขลู่อบแห้งสำหรับชงดื่ม โดยแบ่งการวิจัยเป็น 2 ระยะ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและประหยัดพลังงานมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้รับความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทำการพัฒนาเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นแบบอัตโนมัติ ในโดมพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบล่าโดม)  ที่สามารถตรวจสอบผลผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่  เพื่อควบคุมคุณภาพการอบสมุนไพรใบขลู่ ลดเวลา แรงงาน และขั้นตอนในการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใบขลู่อบแห้งที่มีคุณภาพและมาตฐาน และลดปัญหาเชื้อราได้ 100% โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ขลู่แห้งชงดื่มรายแรกและเป็นเพียงรายเดียวในประเทศไทย และสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่ม มียอดขายเพิ่มจากเดิมมากกว่า 10 %

ขณะที่ ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว อาจารย์คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอ ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ทำการปลูกอ้อยเป็นพืชเศรษกิจหลักและประกอบอาชีพทอผ้า ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่และการสร้างเอกลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นทางด้านภูมิปัญญาการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติของชุมชนที่กำลังจะสูญหายไป โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้แก่เกษตรกร และนำเสนอทางเลือกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อลดการเผาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการนำใบอ้อยซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นเส้นใย และพัฒนางานสิ่งทอให้เกิดเป็นสินค้าในรูปแบบใหม่ที่คงเอกลักษณ์ชุมชนในการทอผ้า ด้วยการนำกระบวนการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าไปเสริมจากเดิมที่มีอยู่ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง

ส่วน นางสาวจิราภา พิศลยบุตร นักศึกษาสาขาสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน คณะบริหารธุรกิจและเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Greenpeace ที่ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฝาขวดรีไซเคิล เล่าว่า ทางทีมได้รับโจทย์ให้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ในการนำฝาขวดน้ำพลาสติกมารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง จากเดิมที่กลุ่มวิสาหกิจได้นำฝาขวดน้ำมารีไซเคิลเป็นกระถางต้นไม้รูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ขีดความสามารถศักยภาพในการผลิตเดิมที่มีอยู่ให้มีมาตรฐานและส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย จึงได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สวยงามแปลกใหม่ไม่จำเจ และราคาจับต้องได้ ได้แก่ เครื่องประดับสายมู (มูเตลู) สร้อยคอ สร้อยข้อมือ จี้ ทั้งยังนำเข้าพิธีบูชาภายในวัดที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ อาทิ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) วัดระฆังโฆสิตาราม นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก เก้าอี้ โต๊ะ แผ่นปูนปูพื้นรักษ์โลก อย่างไรก็ตามหลังจากรีไซเคิลฝาขวดแล้ว ทางทีมได้นำโจทย์มาคิดต่อว่า จะนำขวดน้ำที่เหลือมาทำอะไร จึงมาตอบโจทย์ที่สามารถนำมาทำเป็นเส้นพิมพ์ 3 มิติ สำหรับใช้ในเครื่องพิมพ์ 3D Printing ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง หากสำเร็จจะนำไปอบรมให้กับชุมชนต่อไป

ฉวีวรรณ/ข่าว