News

นักศึกษาราชมงคลพระนคร พลิกวิกฤตสร้างรายได้ สร้างธุรกิจ สู้โควิด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อทุกระบบในสังคม ไม่เว้นแม่แต่วงการการศึกษา แต่หากพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสำเร็จอีกขั้นในชีวิต เช่นเดียวกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่ใช้เวลาในการมองหาโอกาส มองหาช่องทางในการก่อร่างธุรกิจใหม่ เพื่อเรียนรู้ชีวิตการทำงานและหาประสบการณ์ให้กับตนเอง แม้ว่าจะเจอกับวิกฤติชีวิต แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ มุ่งมั่นประกอบธุรกิจของตนเองจนประสบความสำเร็จ

นางสาววิลาสินี เพ็งอิ่ม (แตงโม) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจเบเกอรี่คือคุณแม่ชอบรับประทาน จึงอยากลองทำ ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยเรียนรู้ศึกษาข้อมูลจากคลิปตามยูทูป แล้วก็มาปรับสูตรเป็นของตนเอง จากนั้นให้ทุกคนลองชิม ปรากฎว่าผลตอบรับดีมาก จึงคิดเริ่มทำขาย ซึ่งช่วงแรก ๆ ฝากขายให้กับกลุ่มเพื่อนของคุณแม่ผ่านทางไลน์ ทั้งนี้ช่วงแรกคิดว่าอยากขายแค่เพียงหารายได้เสริม แต่พอผลตอบรับดีเกินคาด จึงทำให้เราอยากพัฒนาร้านและสินค้าของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ประจวบกับช่วงที่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 ทุกคนอยู่บ้าน จึงคิดพัฒนาสินค้าที่สามารถขายส่งทางออนไลน์ โดยให้ขนมสามารถเก็บได้นานกว่าเดิม ซึ่งการขายจะเน้นทางออนไลน์เป็นหลักเนื่องจากไม่ได้มีหน้าร้าน ที่เพจเฟซบุ๊ก : bbarbie_brownies ส่วนการรีวิวสินค้าก็จะเน้นทางสื่อ IG เป็นหลัก : bbarbie_brownies โดยเบเกอรี่ทุกสูตรจะอบและทำด้วยตนเอง ปรับสูตรเป็นหวานน้อยเพื่อสุขภาพ “ดิฉันโชคดีตรงที่ที่ผ่านมาไม่มีความกดดันกับสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัว เพราะไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย เพียงรู้สึกอยากทำไปเรื่อย ๆ สนุกกับงาน และพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ แง่คิดที่ได้ช่วงโควิดที่เกิดขึ้น คือคิดว่าควรนำเวลาว่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ค้นหาศักยภาพในตัวของตัวเอง และนำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและคนรอบข้าง ส่วนการทำธุรกิจได้นำเทคนิคในการเรียนวิชาการการโฆษณาและประชาสัมพันธ์มาใช้ในการทำงานเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเขียนคอนเทนต์, จัดโปรโมชั่นสำหรับลูกค้า การโพสสื่อลงโซเชียลเพื่อให้มีความน่าสนใจ การโพสขายให้ตรงความต้องการของลูกค้า การพัฒนาสินค้าของตนเองเป็นต้น” นางสาววิลาสินี กล่าว

ขณะที่ นายสันติภาส พันเสวก (อาร์ม) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาโลจิสติกส์ คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า ทำงานพิเศษช่วงเวลาว่างตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษา อยากได้เงินเป็นของตัวเอง ช่วงปิดเทอมจะหางานทำตามร้านอาหารฟาสฟู๊ดต่าง ๆ แต่พอเกิดเหตุการณ์โควิด-19 จึงต้องหยุดอยู่บ้าน โดยจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ คือบ้านญาติของผมทำธุรกิจขายส่ง-ปลีกน้ำพริก (น้ำพริกตาแดง By คุณตา) จึงรับมาขายผ่านเพจเฟซบุ๊กของตนเอง แต่ได้เข้าไปช่วยแนะนำธุรกิจของญาติในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ ช่วยดูแลระบบการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เพราะช่วงนั้นต้องปิดหน้าร้าน จากนั้นเริ่มมองหาช่องทางหารายได้ของตนเองเพิ่มเติม ทั้งนี้ส่วนตัวชอบทานผักโขม จึงคิดทำผักโขมอบชีสขายผ่านเพจเฟซบุ๊กของตนเอง ชื่อเพจ : อาร์ม แขน ซึ่งผลตอบรับช่วงนั้นธุรกิจออนไลน์มาแรงมาก เพราะทุกคนอยู่บ้าน จึงมีประชาชนมาสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก “ผมเป็นอีกคนที่โชคดีที่ครอบครัว ไม่ประสบกับภาวะวิกฤติครั้งนี้ แต่กลับทำให้ธุรกิจขายดีขึ้นกว่าช่วงปกติด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตามสินค้าใด ๆ ที่เป็นสินค้าตามกระแสมักจะอยู่ในตลาดไม่นานนัก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์วิกฤตครั้งนี้คือ การที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ จะต้องหาปัญหาของลูกค้าให้เจอ และนำสิ่งนั้นมาหาจุดขายของตนเอง ส่วนวิกฤติโควิด-19 ส่วนตัวคิดว่าคนเราต้องวางแผนชีวิตตนเองให้มากขึ้น หาธุรกิจที่ลงทุนน้อยที่สุด และได้กำไรเยอะที่สุด อย่าทำอะไรตามกระแสมากนักจะยั่งยืนกว่า ส่วนการทำธุรกิจได้นำวิชาโลจิสติกส์ ที่ได้เรียนมาปรับใช้ในการทำงานเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หีบห่อให้สวยงาม การซื้อขายออนไลน์ การขนส่งเพราะสินค้าต้องสดใหม่ให้ทันความต้องการของผู้บริโภค” นายสันติภาส กล่าวทิ้งท้าย นับเป็นการสร้างโอกาสที่ดีด้วยการใช้เวลาว่างในการทำงานระหว่างที่กำลังศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายในตัวเอง โดยไม่ทิ้งการเรียนที่สำคัญที่สุดด้วย