News

นศ.ราชมงคลพระนคร โชว์สกิลออกแบบ-ตัดเย็บปลุกแฟชั่นผ้าไหมไทย ให้ทูตนิวซีแลนด์อวดโฉมเวทีระดับชาติ

จากนโยบายขับเคลื่อน Soft Power อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย อีกทั้งยังเป็นการสืบสานพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าไหมไทยมายาวนาน จึงได้มีการจัดงานมหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 13 ขึ้น โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้า คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในสาขาที่ได้รับการสนับสนุนให้นำผ้าไทยและผ้าไหมไทยมาตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย รองเท้า กระเป๋า และของใช้ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีอาชีพ รายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับการคัดเลือกให้ออกแบบตัดเย็บชุดให้กับคุณโจนาธาน เดล คิงส์ (H.E. Mr. Jonathan Dale Kings) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย และคุณอะแมนดา เจน แม็กดอนัลด์ (Amanda McDonald) ภริยา โดยมีนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้า คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ออกแบบตัดเย็บ และผศ.อัชชา หัทยานานนท์ อาจารย์มัลลิกา จงจิตต์ เป็นที่ปรึกษาการออกแบบตัดเย็บ

นายปวเรศ เจริญศิลป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของทีมออกแบบตัดเย็บ เล่าว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมออกแบบและตัดเย็บชุดให้กับเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยจากการชักชวน ของผศ.อัชชา และอาจารย์มัลลิกา ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาและมีประสบการณ์ในการตัดชุดในงานดังกล่าวหลายครั้ง โดยชุดที่ออกแบบในครั้งนี้เน้นความเรียบง่ายแต่สอดแทรกด้วยรายละเอียดมากมายเพื่อให้ชุดมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น อาทิ การเลือกใช้โทนสีที่โดดเด่นสะท้อนอัตลักษณ์ของประเทศนิวซีแลนด์ การออกแบบลวดลายที่อยู่บนผ้า เทคนิคการตัดเย็บที่เน้นความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี สำหรับความท้าทายในการทำงานครั้งนี้คือเรื่องของเวลาที่มีอย่างจำกัด จึงทำให้แต่ละครั้งที่เข้าพบเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยจะต้องเก็บรายละเอียดความต้องการให้ได้มากที่สุด ในส่วนการทำงานภายในทีมมีทั้งหมด 9 คน จะแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด โดยมีทั้งหมด 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายแพทเทิร์น ฝ่ายตัดผ้า ฝ่ายเย็บ และฝ่ายปัก งานทุก ๆ ส่วนต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคต่าง ๆ มาประกอบกัน ดังนั้น ความรู้ที่อยู่ในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ธีมสี การทำงานร่วมกันเป็นทีม จึงมีส่วนสำคัญที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในการทำงานครั้งนี้

ฉวีวรรณ/ข่าว