ปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ยังคงมีเศษวัสดุที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์และไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ดร.วรินธร บุญยะโรจน์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงเกิดแนวคิดในการนำเศษใบยางพาราและเถ้าไม้ยางพารามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ภายใต้ชื่องานวิจัย “การพัฒนาคุณสมบัติของต้นแบบแผ่นมวลเบาจากเศษใบยางพาราและเถ้าไม้ยางพาราสำหรับประยุกต์ใช้ระดับภาคสนาม” ซึ่งงานวิจัยนี้ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยไปถ่ายทอดให้กับศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและผู้สูงอายุบ้านจำรุง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ดร.วรินธร เล่าว่า การพัฒนาคุณสมบัติของต้นแบบแผ่นมวลเบาจากเศษใบยางพาราและเถ้าไม้ยางพาราสำหรับประยุกต์ใช้ระดับภาคสนามนี้เป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุทางการเกษตรและช่วยรักษาสภาพแวดล้อมด้วยผลิตภัณฑ์สีเขียว ซึ่งเส้นใยธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศษวัสดุทางการเกษตรนั้นสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุผสมในการผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบาสามารถประยุกต์ใช้ในงานก่อสร้างได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาการใช้เถ้าไม้ยางพาราและเศษใบยางพาราต้นแบบแผ่นมวลเบาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผสมใบยางพาราปริมาณ 1-6% เพื่อช่วยประสานลดการแตกร้าวของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และใช้เถ้าไม้ยางพาราปริมาณ 5 - 20% เพื่อทดแทนปูนซีเมนต์บางส่วนและช่วยให้ชิ้นงานมีความแข็งแรงและคงทนต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งเถ้าไม้ยางพาราจะช่วยให้มีการกระจายตัวกันอย่างสม่ำเสมอภายในชิ้นงานต้นแบบและทำให้ชิ้นงานต้นแบบนี้มีความต้านทานกำลังอัดเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณสมบัติของวัสดุผสมปูนซีเมนต์ที่ผสมด้วยวัสดุจากธรรมชาติจะนำมาเปรียบเทียบกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
ดร.วรินธร เล่าต่อว่า การใช้เศษใบยางพาราและเถ้าไม้ยางพาราเป็นวัสดุผสมในการผลิตแผ่นมวลเบาชนิดไม่รับน้ำหนักสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับแผ่นมวลเบาในระดับภาคสนาม นอกจากนี้การนำเถ้าไม้ยางพารามาใช้ประโยชน์ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงาน รวมถึงเพิ่มมูลค่าให้วัสดุทางการเกษตรและช่วยลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งมีขั้นตอนการทำง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก เพียงเตรียมแม่พิมพ์ตามแบบที่ต้องการให้พร้อม ใส่ส่วนผสมผิวหน้าบาง ๆ โดยใช้เกียงเกลี่ยให้ทั่วแม่พิมพ์ และใช้ไม้สี่เหลี่ยมอัดให้ทั่วแม่พิมพ์ หลังจากนั้นให้ใช้เกียงโบกปาดส่วนผสมให้เรียบสม่ำเสมอ จากนั้นใช้ถาดปลดบล็อกและแกะงานแล้วนำไปตากแดดตามระยะเวลาที่กำหนด
“อย่างไรก็ตาม รู้สึกภูมิใจแม้จะเป็นผลงานชิ้นงานเล็ก ๆ แต่สามารถนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปถ่ายทอดให้กับชุมชนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในระดับภาคสนาม ซึ่งปัจจุบันชุมชนและผู้สูงอายุบ้านจำรุงสามารถทำต้นแบบแผ่นมวลเบาจากเศษใบยางพาราและเถ้าไม้ยางพาราเพื่อใช้เป็นวัสดุตกแต่งบ้านและสวนได้ด้วยตนเอง ใช้เงินลงทุนต่ำเพราะไม่ต้องไปซื้อวัสดุก่อสร้างที่มีขายตามท้องตลาด”