การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาเส้นใยป่านศรนารายณ์ในเชิงพาณิชย์ ภายในกลุ่มงานหัตถกรรมจากป่านศรนารายณ์ของกลุ่มชุมชนหมู่บ้านหุบกะพง ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการจัดการความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยกลุ่มชาวบ้านสร้างความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า มีช่องทางการตลาดที่เปิดกว้างและยังช่วยลดขยะจากกระบวนการผลิตทั้งหมดอย่างเต็มรูปแบบ
ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจพบปัญหาของชาวบ้านในกระบวนการผลิตสินค้า 4 เรื่องหลักๆ คือการใช้สีเคมีย้อมป่านศรนารายณ์ ซึ่งทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดมลพิษ ต่อมาผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านที่ทำออกมาจำหน่ายภายในสหกรณ์ขาดการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงสหกรณ์ร้านค้าได้นำถุงพลาสติกมาห่อเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าให้ลูกค้าซึ่งนอกจากไม่สวยงามแล้วยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านบรรจุภัณฑ์ สุดท้ายการวางจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดยังไม่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นทีมงานวิจัยจึงร่วมกันทำการศึกษาโดยการนำเศษเส้นใยป่านศรนารายณ์ที่หลงเหลือระหว่างกระบวนการปลอกและปั่นนำไปผลิตเป็นกระดาษสาเพื่อนำมาทำเป็นของที่ระลึก และนำมาผลิตถุงกระดาษและบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าชุมชน
“งานวิจัยดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกแล้วยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านบรรจุภัณฑ์ ส่วนด้านการออกแบบได้ทำการพัฒนาเส้นใยป่านศรนารายณ์ให้มีเส้นใยที่นุ่มขึ้น รวมถึงการใช้สีครามจากธรรมชาติมาย้อมซึ่งจะทำให้ได้สีโทนเย็น คือเฉดฟ้าและน้ำเงิน ซึ่งนับเป็นการยกระดับราคาของผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี และยังได้ทำการออกแบบสินค้าให้มีรูปลักษณ์ที่หลากหลายเพื่อเป็นต้นแบบให้ชาวบ้านนำไปผลิตกว่า 60 แบบ ซึ่งจะทำให้สินค้าสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น สุดท้ายการทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและช่องทางการตลาดให้กว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะมีการต่อยอดไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนเพื่อสร้างให้วัสดุจากป่านศรนารายณ์ที่มีคุณสมบัติต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เคยมีในท้องตลาด อันเป็นการสร้างความหลากหลาย และการสร้างอาชีพของกลุ่มชุมชนต่อไป” ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ กล่าว