News

สินค้ารักษ์โลก! จากฝาขวดน้ำพลาสติกเหลือทิ้ง ผลงานสร้างสรรค์ น.ศ.ราชมงคลพระนคร สร้างรายได้วิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย

จากรายงานการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลกที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง กว้างขวางและยาวนานทั้งในทางตรงและทางอัอม นโยบายและการขับเคลื่อนให้แต่ละภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่อาจเคยได้ยินกันมาก่อนว่า การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยอาศัยการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับองค์กร เมือง โรงงาน อุตสาหกรรม และระดับประเทศ แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในไทยยังคงมีแต่ในองค์กรขนาดใหญ่ และยังมีเพียงไม่กี่องค์กร แต่ในองค์กรขนาดเล็ก รวมถึงชุมชนยังคงมีข้อจำกัดอยู่อีกมาก แต่ไม่ใช่กับ วิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ที่ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดในการบริหารจัดการขยะภายในชุมชนที่มีจำนวนมาก

จากโรงรับซื้อขยะรีไซเคิล กลายมาเป็นวิสาหกิจผู้ผลิตกระถางต้นไม้รักษ์โลกจากฝาขวดน้ำเหลือทิ้ง และได้ต่อยอดกลายเป็นผลิตภัณฑ์อีกมากมายโดยนักศึกษาทีม Greenpeace คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ประกอบด้วย นางสาวจิราภา พิศลยบุตร นางสาวน้ำทิพย์ แก้วแสงทอง นายศุภากร ชีพนุรัตน์ นางสาวฐิติญาณ์ นุชรักษา นางสาวกัญญณัช ต้นประยูร สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน  นางสาวพัทธ์ธีรา เธียรธีรา นางสาวนิติยา ศรวิชัย สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ และนางสาวภัสช์ธิราณ์ พันธ์นิล  นางสาวพัชรินทร์ กลั่นฟัก สาขาวิชาการเงิน โดยมี ผศ.ดร.วรัญญา แก้วเชือกหนัง สาขาวิชาการจัดการ เป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้เข้าไปดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ นำวิทยาการกระบวนการทำงานสมัยใหม่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งช่วยยกระดับขีดความสามารถกลุ่มองค์กรชุมชนให้มีศักยภาพ สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เกิดความยั่งยืนมีมูลค่าเพิ่มแข่งขันในตลาดได้ จนคว้ารางวัลประเภทรักษ์ดี ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2567 เพื่อเฟ้นหาตัวแทนไปแข่งขันในระดับประเทศต่อไป

นางสาวจิราภา พิศลยบุตร หัวหน้าทีมนักศึกษากลุ่ม Greepeace กล่าวว่า ทางทีมได้รับโจทย์ให้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ในการนำฝาขวดน้ำพลาสติก มารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง ทั้งนี้จากเดิมที่กลุ่มวิสาหกิจได้นำฝาขวดน้ำ มารีไซเคิลเป็นกระถางต้นไม้รูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นจึงได้ทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ในหลากหลายมิติ จึงพบว่าความต้องการของชุมชนมีข้อจำกัด โดยต้องการให้กลุ่มนักศึกษาพัฒนาใน 6 ด้าน  คือ 1.ความต้องการด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ 2.ความต้องการพัฒนาด้านสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ 3.ความต้องการบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก 4.ความต้องการเครือข่ายบูรณาการการเรียนรู้และจับคู่ธุรกิจที่เป็นประโยชน์สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ 5.ความต้องการวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ (Carbon Footprint) และ 6.การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบรายการสินค้าที่ขายและคงเหลือ ดังนั้นเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ขีดความสามารถศักยภาพในการผลิตเดิมที่มีอยู่ให้มีมาตรฐาน  และส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย จึงได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สวยงามแปลกใหม่ไม่จำแจ และราคาจับต้องได้ ได้แก่ เครื่องประดับสายมู (มูเตลู) สร้อยคอ สร้อยข้อมือ จี้ โดยได้ทำการเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าเพิ่มการอิงกระแสทางธุรกิจในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการเสริมมงคลชีวิต  ด้วยการนำเครื่องประดับเข้าพิธีบูชาภายในวัดที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ อาทิ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)  วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก จำพวกเก้าอี้ โต๊ะ  แผ่นปูนปูพื้นรักษ์โลก และโล่รางวัลต้นแบบรักษ์โลก “ฝาขวดน้ำพลาสติกเป็นขยะที่มีอยู่มากมายไม่สามารถย่อยสลายได้ ถูกปะปนอยู่ในดิน หรือถูกเผาไหม้ทำลายเป็นมลพิษต่อสภาพอากาศ โดยปกติแล้วการรีไซเคิลขยะ ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้อะไรจากการทำลายมัน แต่การนำมารีไซเคิลแม้ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แต่เราได้สินค้าใหม่กลับมาใช้หรือขาย ดีกว่าการนำไปเผาทิ้งทำลาย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิล หากเกิดการแตกหักก็ยังสามารถนำกลับมาหลอมเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างไม่จำกัด  อย่างไรก็ตามหลังจากรีไซเคิลฝาขวดแล้ว ทางทีมได้นำโจทย์มาคิดต่อว่า จะนำขวดน้ำที่เหลือมาทำอะไร จึงมาตอบโจทย์ที่สามารถนำมาทำเป็นเส้นพิมพ์ 3 มิติ สำหรับใช้ในเครื่องพิมพ์ 3D Printing  ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง หากสำเร็จก็จะสอนให้กับชุมชนต่อไป” นางสาวจิราภา  กล่าว

ด้านนางสาวน้ำทิพย์ แก้วแสงทอง กล่าวว่า กระแสตอบรับเครื่องประดับจากฝาขวดน้ำค่อนข้างดีมาก ทางชุมชนมีฐานลูกค้าเพิ่มอีกหลายกลุ่มตามผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย จากเดิมกระถางต้นไม้จะเป็นกลุ่มลูกค้าคนรักต้นไม้ ชอบแต่งสวน แต่พอมาเพิ่มเป็นเครื่องประดับสวยงามเสริมสิริมงคล ก็ทำให้เพิ่มกลุ่มลูกค้าอีกแบบ หรือผลิตภัณฑ์แต่งบ้าน เก้าอี้ ก็ได้กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบงานศิลปะ งานตกแต่งเช่นกัน นอกจากการเพิ่มสินค้าแล้วทีมงานยังเข้าไปสอนการขายสินค้าผ่านออนไลน์ การไลฟ์สด การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายผ่านแอปพลิเคชัน การวิเคราะห์ข้อมูลเครดิตคาร์บอน รวมถึงการพาให้ชุมชนไปศึกษาดูงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในองค์กรต่าง ๆ  “สิ่งที่มุ่งหมายจากการลงพื้นที่ชุมชน คือการที่พวกเขาสามารถอยู่ได้ ดำเนินกิจการ มีรายได้อย่างยั่งยืนโดยที่ไม่มีพวกเรา ชุมชนสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์จากที่ริเริ่มให้ขึ้นไปเรื่อย ๆ สร้างมูลค่าอีกมากมาย  ซึ่งนั่นก็คือการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นการลดการทิ้งขยะขวดพลาสติกเพื่อโลกไปในตัวได้อีกเช่นกัน” นางสาวน้ำทิพย์ กล่าว

ด้านนางจุไรรัตน์ เครือพิมาย ประธานวิสาหกิจชุมชน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นชุมชนได้ทำเรื่องของการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากการทำโรงรีไซเคิลรับซื้อขยะในเขตชุมชนคลองเตย เมื่อจัดการแยกขยะแล้วมีฝาขวดพลาสติกเหลือทิ้งจำนวนมาก ต่อมา บ.พรีเชียสพลาสติกแบงค็อก (Precious Plastic Bangkok)  ได้นำเครื่องจักรสำหรับบดย่อยสลาย และเครื่องขึ้นรูปฝาขวดน้ำมาให้ชุมชนผลิต ซึ่งสินค้าที่ผลิตส่งให้บริษัทส่วนมากเป็นกระถางต้นไม้ แต่ข้อจำกัดเดิมคือผู้บริโภคมักอยู่ในกลุ่มเฉพาะสินค้ารักษ์โลก เนื่องจากกระถางต้นไม้อาจมีราคาค่อนข้างสูง แต่ผู้บริโภคไม่ได้มองในเรื่องของความคุ้มค่าที่สินค้าไม่สามารถแตกหักสูญสลายได้  “รู้สึกดีใจที่นักศึกษา ได้เข้ามาแนะนำเรื่องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ และยังเป็นการลดขยะ ลดการเกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้โลกอีกด้วย  อย่างไรก็ตามในอนาคตมีแนวคิดจะเปิดชุมชนให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับกลุ่มชุมชนอื่นที่สนใจในการกำจัดขยะและสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลกด้วยเช่นเดียวกัน  อย่างน้อยเราก็สามารถเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการช่วยกันลดภาวะโลกร้อนได้” ประธานวิสาหกิจชุมชน กล่าว

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีความมุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เป็นนักปฏิบัติสามารถทำงานในสังคม โดยได้เข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 เพื่อมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อน นำความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มองค์กรชุมชนให้มีศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้นำองค์ความรู้จากสถาบันไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป  ทั้งนี้โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ผลิตภัณฑ์จากฝาขวดน้ำรีไซเคิล กระถางรักษ์โลก ถือเป็นการสร้างความชัดเจนทางกายภาพแสดงถึงความเป็นอยู่ที่ตระหนักรู้รักษาสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในชุมชน และอนาคตคนรุ่นหลัง จากการแยกขยะสู่การสร้างรายได้ที่เป็นรูปธรรม  โดยได้นำความมุ่งมั่นรักษ์โลกของชุมชน ร่วมกับความตั้งใจของนักศึกษา สร้างองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์โดยให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่จากฝาขวดน้ำรีไซเคิลเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน โดยมีการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ภายใต้ขอบเขตมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย  สำหรับผู้ที่สนใจอุดหนุนสินค้าของชุมชน เพื่อสร้างรายได้ ยังเป็นการช่วยกันลดขยะ ช่วยโลกของเรา ติดตามข้อมูลได้ทางเพจ Facebook / TikTok  วิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter