ปัจจุบันอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ก้าวไปอย่างไม่หยุด แต่อีกด้านความเจริญก็ทำให้สภาพแวดล้อมโดนทำลายไปด้วย จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ เพื่อช่วยลดขยะที่เป็นพลาสติกในประเทศให้น้อยลง จึงมีการนำวัสดุจากธรรมชาติมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของใช้ต่าง ๆ เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหลากหลายชนิด และหนึ่งในนั้นคือ หญ้าแฝก (Vetiver grass) พืชที่สามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิดโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักรสาน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเล็งเห็นประโยชน์ของหญ้าแฝก จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาทดลอง โดยหนึ่งในโครงการในพระราชดำริคือการพัฒนาการทำผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกด้วยการนำศิลปะมาสร้างผลงานให้เกิดประโยชน์ใช้สอย โดยเฉพาะงานหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยวัสดุในการทำแต่ละอย่างจะเป็นไปตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในแต่ละภูมิภาค
แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกเป็นจำนวนมาก แต่ผลิตภัณฑ์ยังขาดการสนับสนุนไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค รวมถึงชาวบ้านแต่ละชุมชนมีการทำผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกรูปแบบใกล้เคียงกัน จึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ดร.อาณัฏ ศิริพิชญ์ตระกูล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี พรธาราพงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ จึงทำการวิจัยการใช้ประโยชน์จากใบหญ้าแฝก สำหรับงานศิลปหัตถกรรมสินค้าตกแต่งบ้าน ที่มีความสวยงามผสมผสานฝีมือช่างหัตถกรรมท้องถิ่น เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้สินค้าชุมชน รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกในการแปรรูปหญ้าแฝกให้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ชุมชนสามารถนำไปผลิตได้จริงในงานหัตถกรรม
นายอาณัฏ ศิริพิชญ์ตระกูล หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวถึงขั้นตอนการทำวิจัยว่า ได้ลงพื้นที่ศึกษากลุ่มหัตถกรรมหญ้าแฝกชุมชน อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งเดิมทีทำการสานหมวกเป็นหลัก จึงคิดนำงานหัตถกรรมที่มีอยู่เดิมมาผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้กลายเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เพิ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล และพึ่งพาตนเองอย่างสร้างสรรค์ โดยก่อนการออกแบบได้ทำการสำรวจแนวทางจากกลุ่มชุมชนหัตถกรรมท้องถิ่น 3 ภาค ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกบ้านแกใหม่ ตำบลป่าสัก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกบ้านโคกพรม ตำบลโนนไทย อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา และชุมชนตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยแนวทางการศึกษา คือ หาข้อมูลด้านหัตถกรรมหญ้าแฝกเพื่อศึกษาลวดลาย การสาน กระบวนการผลิตและการใช้งาน ศึกษาและออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยผสานศิลปะพื้นถิ่นภาคอีสานและศิลปะร่วมสมัย
นายอาณัฏ ศิริพิชญ์ตระกูล กล่าวต่อว่า ส่วนการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกเป็นผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านประเภทต่าง ๆ ในแต่ละภาค 3 ชิ้นงาน และผลิตภัณฑ์ชุดเก้าอี้พักผ่อน ประเภทเก้าอี้นั่งเล่น ประเภทบีทแบค (Beanbag) เหมาะสำหรับใช้ภายในบ้านและนอกบ้าน โดยใช้แนวคิดจากเต่าในการออกแบบ วัสดุได้กำหนดเปอร์เซ็นต์หญ้าแฝกมากกว่าวัสดุอื่นกว่า 60% เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เกิดความชัดเจน โดยผสมกับหนังแท้เพื่อสร้างความทนทานในการใช้งาน โดยผู้วิจัยหวังว่าชุมชนสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับสินค้าที่พัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับตลาดโลกต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยการนำหญ้าแฝกมาการออกแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นภาคอีสาน ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 11 (ประจำปี 2561 -2562) ประเภทส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ ประเภทใบหญ้าแฝก ด้านความคิดสร้างสรรค์ จัดโดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อผลงาน “Little turtle เต่าน้อย” อีกด้วย ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ นายอาณัฏ ศิริพิชญ์ตระกูล โทรศัพท์ 09 1945 9942