ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการวิจัย “การพัฒนาและยกระดับมูลค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนฐานทุนทรัพยากร วัฒนธรรมในพื้นที่ จังหวัดเพชรบุรี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) พร้อมด้วยทีมนักวิจัยจาก 4 คณะ ร่วมกันบูรณาการจัดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี “การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมัลเบอร์รี” ผ่านสื่อออนไลน์ ให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดเพชรบุรี โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับสินค้า เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างกลไกทางศรษฐกิจให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สินค้า OTOP ก่อให้เกิดรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้วันที่ 3 สิงหาคม 2564 จัดการถ่ายทอด ณ ห้อง 514 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ (ศูนย์โชติเวช) ประกอบด้วย 1.“การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมัลเบอร์รี เพื่อการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดเพชรบุรี” เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ แยมมัลเบอร์รี่ มัลเบอร์รีกวน เยลลีมัลเบอร์รี และชาใบมัลเบอร์รีพร้อมดื่ม โดยทีมวิจัยคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ 2. “การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมกระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักรสำหรับการแปรรูปมัลเบอร์รี ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม” ได้แก่ เครื่องอบ เครื่องคั่ว เครื่องกวนสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์มัลเบอร์รี เพื่อสร้างกระบวนการผลิตแบบใหม่ให้กับชุมชน โดยทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ “การออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับมัลเบอร์รีเพื่อสุขภาพบนฐานอัตลักษณ์วิถีชีวิตชุมชน” และ 3.“การเพิ่มมูลค่าและการพัฒนากลยุทธ์การตลาดผลิตภัณฑ์มัลเบอร์รีแปรรูปเพื่อสุขภาพ จังหวัดเพชรบุรี ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม” โดยเป็นการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่า การพัฒนากลยุทธ์เพื่อเข้าถึงตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ สามารถนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์เกิดการสร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนโดยทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา
และวันที่ 4 สิงหาคม 2564 จัดการถ่ายทอด ณ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศูนย์เทเวศร์) เรื่อง “การพัฒนาการปลูกหม่อนมัลเบอร์รีแบบเกษตรอินทรีย์คุณภาพสูงสำหรับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจกลุ่มต้นน้ำ” โดยได้ร่วมศึกษาและพัฒนาตามความต้องการของกลุ่มชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกมัลเบอร์รี จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่การเพาะปลูกแบบปลอดสารเคมี คงคุณค่าทางโภชนาการ ลดต้นทุนในการปลูก มีผลที่มีคุณภาพ การสร้างระบบการชลประทานน้ำหยด การพัฒนาปุ๋ยชีวภาพ โดยทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี