News

ร่วมมือ 4 คณะ คว้า Gold Award นวัตกรรมเชิงบูรณาการ ขนม (ลด) หวานเมืองเพชรบุรี

จากจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กับองค์การบริหารส่วนตำบลสำมะโรง จ.เพชรบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถพึ่งพาตนเอง มีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งสังคม ผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งภายใต้ความร่วมมือได้ก่อเกิดงานวิจัย การพัฒนาและสร้างเครื่องจักร สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมือง จ.เพชรบุรี เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน  BCG Economy Model  จากความร่วมมือของทีมนักวิจัย 4 คณะ ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์  คณะบริหารธุรกิจ  และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

ดร.ประกอบ ชาติภุกต์  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า  จากการลงพื้นที่ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่ามีความต้องการรับประทานขนมไทย แต่กลัวความหวาน และพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความรักสุขภาพ ดังนั้นพฤติกรรมการซื้อส่วนใหญ่จึงมักซื้อเป็นของฝาก จึงทำให้ตลาดของหวานไม่กว้างนัก ผู้ประกอบส่วนใหญ่ทำขนมออกมามีลักษณะหน้าตาเหมือนกัน ที่สำคัญยังไม่มีแบรนด์เป็นของตนเอง  ดังนั้นระยะแรกจึงทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ โดยนำสารให้ความหวานกลุ่มอิริทริทอล ที่ให้ค่าพลังงานต่ำ ทดลองทำกับขนมหวานพื้นเมืองเพชรบุรี 5 ชนิดด้วยกัน คือ ขนมตาล ขนมลูกชุบ ขนมฝอยทอง ขนมหม้อแกง และขนมทองหยอด ระยะที่สองเพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ โดยนำการตลาดและอัตลักษณ์ใหม่มาใช้ดึงดูดลูกค้ากลุ่มผู้รักสุขภาพ สำหรับเป็นช่องทางการโฆษณานำเสนอขนมหวาน (ลด) หวานเมืองเพชรบุรีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ระยะที่สามทีมวิจัยได้ทำการศึกษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรี  สำหรับใช้ในการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ จนล่าสุดได้มาออกแบบแบรนด์พริบพรี ที่หรูหราและเก๋ไก๋ เหมาะกับการยกระดับขนมไทยเมืองเพชรให้เป็นของฝากของขวัญ โดยทั้งหมดถูกนำไปเชื่อมโยงกับการตลาดของสินค้าเพชรบุรีในการขายในต่างประเทศต่อไป และระยะสุดท้าย เครื่องจักรซึ่งเป็นเครื่องทุ่นแรง ที่ชุมชนมีอยู่ค่อนข้างล้าสมัย ทีมวิจัยจึงทำการพัฒนาและสร้างเครื่องจักรสำหรับการผลิตขนมหวานพื้นเมืองแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยปัจจุบันสร้างเครื่องจักรแล้ว 4 เครื่อง ได้แก่เครื่องทำขนมลูกชุบ เครื่องปอกมะพร้าว เครื่องหยอดขนมหม้อแกง และเครื่องยีเนื้อลูกตาล ซึ่งการสร้างเครื่องจักรดังกล่าว อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดของการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ผลิตและผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการผลิตขนม ให้มีคุณภาพชีวิต และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีเครื่องจักรเป็นเครื่องทุ่นแรง ที่ไม่ใช่การใช้เครื่องจักรมาทดแทนแรงงานท้องถิ่นแต่อย่างใด

ด้าน อาจารย์ชลากร อุดมรักษาสกุล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาความต้องการของชุมชนในจังหวัดเพชรบุรี ทำให้ได้รับรู้ถึงปัญหาในกระบวนการผลิต จึงเกิดเป็นงานวิจัยการพัฒนาและสร้างเครื่องจักรแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม  ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้ จำนวน 4 ชิ้นงาน ประกอบด้วย

  1. เครื่องยีเนื้อตาล โดยปัญหาที่พบคือ ขั้นตอนของการเอาเนื้อลูกตาลออกจากเปลือกที่ต้องใช้เวลานานมากในการทำงาน ดังนั้นจึงออกแบบสร้างเครื่องจักรสำหรับการยีเนื้อตาล มีโครงสร้างขนาดกะทัดรัด มีกำลังการผลิตต่อวันในปริมาณที่มากขึ้น และมีความปลอดภัยในการทำงานสูง โดยเครื่องสามารถแยกเนื้อตาลได้ประมาณ 3.6 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในขณะที่แรงงานคนได้เพียง 1.3 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
  2. เครื่องปอกเปลือกมะพร้าว สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปผลมะพร้าว อีกหนึ่งในปัญหาที่พบคือ ขั้นตอนของการปอกเปลือกมะพร้าวที่ยังต้องใช้แรงงานคน ซึ่งมีอันตรายค่อนข้างสูง อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการปอกเปลือกที่มาก  โดยการวิจัยได้นำหลักการทำงานของเครื่องดึงใยมะพร้าวมาเป็นแนวทางในการสร้างเครื่อง ซึ่งมีโครงสร้างขนาดกะทัดรัด มีกำลังการผลิตต่อวันในปริมาณที่มาก และมีความปลอดภัยในการทำงานสูง โดยเครื่องสามารถปอกเปลือกมะพร้าวได้นาทีละ 4 ลูก ส่วนหากใช้แรงงานคนจะได้นาทีละ 2 ลูก
  3. เครื่องหยอดขนมหม้อแกง ขนมหม้อแกงในจังหวัดเพชรบุรีถือเป็นสินค้ายอดนิยม ในแต่ละวันสามารถขายได้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทำการผลิตไม่พอกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเครื่องสามารถหยอดได้ครั้งละ 6 ถ้วย ส่วนความเร็วในการหยอดขึ้นอยู่กับการปรับตั้งค่า ซึ่งสามารถปรับได้หลายระดับขึ้นอยู่กับความหนืดของขนมหม้อแกงแต่ละสูตร และยังสะอาดถูกสุขอนามัย และ
  4. เครื่องผลิตลูกชุบ ลูกชุบเป็นขนมทานเล่นและเป็นของฝากได้ เมื่อความต้องการมากขึ้นแต่ไม่สามารถผลิตได้ทันเวลาจึงทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นเครื่องผลิตลูกชุบจึงสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี  โดยเครื่องผลิตลูกชุบที่ออกแบบสามารถปั้นลูกชุบ 1 รูปแบบ และทำการปั้นได้ครั้งละ 10 ลูก ซึ่งความเร็วในการปั้นก็จะขึ้นอยู่กับสูตรและความเหนียวของเนื้อถั่ว

สุดท้ายนี้ ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การสร้างนวัตกรรมขนมหวานไทยพื้นเมือง จ.เพชรบุรี ครั้งนี้ได้นำปัญหาต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมหวานประจำถิ่น ต่อยอดภูมิปัญญาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนำผลที่ได้จากการวิจัยมาตอบสนองความต้องการของชุมชน นำไปสู่สังคมอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนสืบไป อย่างไรก็ตามยังนำพา มทร.พระนคร  ไปคว้ารางวัลงานวิจัยดีเด่น  ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2563 (Thailand Research Expo 2020 Award)  ประเภท Gold Award  ถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ