News

ราชมงคลพระนคร รุก!! พัฒนาบุคลากร รับมือความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ

ผศ.ดร.ปริญญ์ บุญกนิษฐ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลพระนคร เป็นประธานเปิด โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานบุคลากรด้านการสื่อสารความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2566 และ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ ห้อง 1204 คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ราชมงคลพระนคร ศูนย์เทเวศร์ ซึ่งมีการบรรยายหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย หัวข้อ “การสื่อสารภาวะวิกฤติในโลกธุรกิจ” โดยคุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือAIS หัวข้อ “การทำแผนสื่อสารภาวะวิกฤติให้ประสบผลสำเร็จ” โดย รศ.ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “การรับมือและการสื่อสารภาวะวิกฤติในสื่อออนไลน์” โดยคุณชลธิศ แก้วประเสริฐสม ผู้ชำนาญการอาวุโส ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ThaiPBS นอกจากนี้ยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ การทดลองการนำแผนการสื่อสารภาวะวิกฤติในสื่อออนไลน์ อีกด้วย

คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อเกิดภาวะวิกฤติขึ้นในองค์กร อย่าจมดิ่ง หรือ อย่าดำดิ่งไปกับวิกฤตินั้น อย่าคิดว่าทุกอย่างจบสิ้นแล้ว หรือมักใช้คำว่า “หมดกัน” ให้มองใหม่ว่า วิกฤติคือโอกาสที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ล้มแล้วต้องลุกขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่อายที่จะถอดวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน ต้องเรียนรู้จากวิกฤติ ถอดวิกฤติเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ เป็นองค์ความรู้ที่จะมีความคมขึ้นเรื่อย ๆ “ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นนั้น มีหลายครั้งที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ฉะนั้นจะต้องไม่อายที่จะปรับเปลี่ยนแผน โดยเมื่อเกิดภาวะวิกฤติขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเข้าใจ เตรียมใจ เตรียมตัว สร้างองค์ความรู้เพื่อรับมือกับวิกฤติ” คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน รศ.ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งว่า สังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันนี้ ผมเชื่อว่า “ความจริง”สำคัญมากกว่า “ข้อเท็จจริง” หมายความว่า คนจะเชื่อความจริงมากกว่าเชื่อข้อเท็จจริง เมื่อใดที่เกิดภาวะวิกฤติขึ้น ให้มองว่าทุกวิกฤติเป็นโอกาส วิกฤติจะเป็นโอกาสได้ก็ต่อเมื่อจัดการกับภาวะวิกฤติให้ดี ให้ภาวะวิกฤตินั้นจบโดยเร็ว แต่ถ้าจัดการไม่ดี ภาวะวิกฤตินั้นจะลากยาว ที่สำคัญหลังเกิดภาวะวิกฤติแล้วต้องเร่งฟื้นฟู ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในองค์กร แล้วภาวะวิกฤติจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ส่วนคุณชลธิศ แก้วประเสริฐสม ผู้ชำนาญการอาวุโส ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ThaiPBS กล่าวตอนหนึ่งว่า ในการทำงานนั้นไม่ได้มีสภาวะวิกฤติเกิดขึ้นในทุกวัน ซึ่งผมมองว่าการแก้ไขสภาวะวิกฤติไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีการวางแผนไว้แล้ว แต่สิ่งที่อยากกว่าการแก้สภาวะวิกฤติคือ การป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะวิกฤติ ซึ่งหมายถึงการทำความเข้าใจ การสร้างความเข้าใจกับบุคลากรภายในองค์กร ซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนในการเผยแพร่ข้อมูลขององค์กรมากที่สุด ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องว่า องค์กรได้มีการวางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะวิกฤติที่จะเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจ เห็นใจ และพร้อมให้อภัยกับภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter