สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้นำทีมคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จาก คณะบริหารธุรกิจ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมบูรณาการวิชาการสู่ชุมชน ในโครงการสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคม 2562 ณ หอประชุมอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลสำมะโรง อ.เมือง จ.เพชรบุรี โดยได้รับเกียรติจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสำมะโรง เป็นประธานเปิดงาน การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมือง จ.เพชรบุรี ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน รวมถึงการสร้างกลยุทธ์และการขยายช่องทางการตลาดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
ดร. ประกอบ ชาติภุกต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.พระนคร กล่าวว่า การอบรมประกอบด้วย 3 หัวข้อ ได้แก่ “การเพิ่มมูลค่าและการพัฒนากลยุทธ์การตลาดผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพด้วยนวัตกรรมทางการตลาดดิจิทัลสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จ.เพชรบุรี” อาทิ การวิเคราะห์ตลาดและกลุ่มเป้าหมาย การสร้างแบรนด์ของชุมชนสู่อัตลักษณ์ขนมหวานเมืองเพชรบุรี การทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์สำหรับการส่งเสริมการขาย โดยวิทยากรจากคณะบริหารธุรกิจ หัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมือง จ.เพชรบุรี เพื่อสุขภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน” อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องน้ำตาลพลังงานต่ำเพื่อสุขภาพ ในผลิตภัณฑ์ฝอยทอง ทองหยอด หม้อแกงเผือก ลูกชุบ และขนมตาล โดยวิทยากรจากคณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ และหัวข้อ “การศึกษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของ จ.เพชรบุรี สู่การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สำหรับผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมืองส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน” อาทิ การนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่การใช้ประโยชน์เชิงเรขศิลป์ และอัตลักษณ์สร้างสรรค์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์จากวัสดุท้องถิ่นและวัสดุสังเคราะห์ และการสร้างสรรค์งานบรรจุภัณฑ์ด้วยวิธีการพิมพ์สกรีนสำหรับขนมหวานเมืองเพชรบุรี โดยวิทยากรจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ เป็นต้น
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการบริการวิชาการสู่ชุมชน ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มุ่งหวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้าน และการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น
ซึ่งเสริมสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจนเป็นที่ยอมรับของสากล และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน