ปัจจุบันกระแสการใช้ผ้าไทยได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย แม้จะได้รับความนิยม แต่ภูมิปัญญาการทอผ้าในหลายๆ ถิ่นกลับกำลังไร้ผู้สืบทอด เช่นเดียวกับ "ผ้าทอมืออ่างศิลา บ้านปึก" ผ้าไทยพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์และประวัติความเป็นมาสะท้อนภูมิปัญญาของคนบ้านปึก จ.ชลบุรี มากว่า 100 ปี จนกลายมาเป็นสินค้าชื่อดังของจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้กลุ่มชาวบ้านได้ประสบปัญหาในเรื่องของการพัฒนาเส้นใย เนื่องจากเดิมได้ใช้วิธีการซื้อเส้นใยในราคาถูกจากแหล่งผลิตอื่น การขาดการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างความหลากหลาย จึงทำให้ ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และอาจารย์กรชนก บุญทร อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จับมือกลุ่มชาวบ้านผู้ประกอบการผ้าขาวม้าทอมือ ตำบลอ่างหิน จังหวัดชลบุรี พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ รวมถึงฟื้นฟูและศึกษาเพื่อดำเนินงานอนุรักษ์สืบสานผ้าทอมือพื้นเมืองให้ยั่งยืนสู่คนรุ่นหลัง
ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ความพิเศษของผ้าทออ่างศิลาอยู่ที่วิธีการผลิต ที่เริ่มจากการทำเส้นด้ายให้เหนียว ด้วยการนำข้าวสวยมาขยำกับด้าย ก่อนจะนำไปหวีด้วยจันดวง ซึ่งได้จากกาบมะพร้าวไม่มีกะลา แล้วนำไปผึ่ง 1 วัน ก่อนจะนำไปสืบในแต่ละตะกอผ้า เมื่อทอออกมาจึงนิ่ม สวมใส่ไม่ร้อนและไม่ระคายเคือง
ดร.เกษม กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลพบว่าคุณยายหง่วน เสริมศรี อายุ 94 ปี ซึ่งมีฝีมือการทอผ้าถูกยกให้เป็นยอดครูในอ่างศิลา สามารถแกะลายใหม่จากสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นทอเป็นลวดลายผ้า เช่น ลายราชวัตร ลายพิกุล ลายไส้ปลาไหล แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นจึงตั้งใจสืบสานงานทอผ้าถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับลูกหลาน แต่ทางกลุ่มยังประสบปัญหาเรื่องการพัฒนาเส้นใย ขาดการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จึงเข้าไปช่วยต่อยอดภูมิปัญญาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย และสร้างอัตลักษณ์ให้สินค้ามีความชัดเจน อาทิ กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย พวงกุญแจ ของที่ระลึก ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการในชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้ประยุกต์รูปแบบสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างโอกาสและรายได้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ทั้งยังช่วยให้ชุมชน/ผู้ประกอบการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งรวบรวมของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ประกอบการผ้าขาวม้าทอมือ ในการส่งเสริมเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สืบไป