เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ และ ผศ.กุลยศ สุวันทโรจน์ หัวหน้าชุดโครงการวิจัย “การพัฒนาและยกระดับมูลค่าสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล (OTOP) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนฐานทุนทรัพยากร วัฒนธรรมในพื้นที่ จังหวัดเพชรบุรี” และชุดโครงการวิจัย“การพัฒนานวัตกรรมชุมชนเพื่อการจัดการฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ชุมชนจังหวัดเพชรบุรี” พร้อมด้วยทีมงานนักวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เข้าพบนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และหัวหน้าหน่วยราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี โอทอปเทรดเดอร์เพชรบุรี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี ผู้ประกอบการร้านออเอก และผู้ประกอบการโรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี
เพื่อรายงานและนำเสนอผลงานวิจัยที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 ชุดโครงการ ประกอบด้วย ชุดโครงการขนมหวานโอทอป จ.เพชรบุรี ประเภทขนมหวานพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวและมัลเบอร์รี (Mulberry) ที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ อ.เมืองเพชรบุรี อ.เขาย้อย อ.ท่ายาง และ อ.ชะอำ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับสินค้า เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างกลไกดูดซับเศรษฐกิจให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สินค้า OTOP ก่อให้เกิดรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน และชุดโครงการวิจัยชุมชนนวัตกรรม 10 พื้นที่เป้าหมาย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ประกอบด้วย ต.บางครก ต.บ้านแหลม ต.ขุนไทร ต.บางตะบูน ต.บางตะบูนออก ต.ท่าแร้ง ต.ปากทะเล ต.บางแก้ว ต.แหลมผักเบี้ย ต.ท่าแร้งออก โดยเป็นการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ และการพัฒนานักนวัตกรชุมชน ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ไปช่วยบริการชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ชุมชนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง จ.เพชรบุรีกำลังวางแผนการทำคลัสเตอร์ขนมหวาน ต้นแบบการเรียนรู้ขนมหวานสู่ระดับสากล เพื่อขับเคลื่อน จ.เพชรบุรี สู่เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารแห่งยูเนสโก โดย มทร.พระนคร ได้เข้าร่วมบูรณาการ โดยจะนำผลงานวิจัย นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ของโครงการมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ และสอดคล้องกับเป้าหมายแผนพัฒนาจังหวัด ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ก่อเกิดรายได้ลดรายจ่าย และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อยื่นเสนอต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ต่อไป