Research

ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงส้นเท้า สารสกัดจากเปลือกกล้วยและเปลือกมะละกอ ไร้สารเคมีกันบูด

กล้วยเป็นพืชผลไม้ที่ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีประโยชน์และสรรพคุณแทบทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบ ราก ปลี ผล โดยนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และนำมาเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะผิวพรรณ อาทิ หูด สิว รอยยุงกัด แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามและทิ้งอย่างไร้ค่านั่นก็คือเปลือกกล้วย โดยมีงานศึกษาวิจัยระบุว่า เปลือกกล้วยมีสารฟีนอล กลุ่มโดพามีน มีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดริ้วรอย และลดการสร้างเม็ดสีผิว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ นางสาววิมลรัตน์ ม่วงประเสริฐ  นางสาวนันทชา เนื้อนวล และนางสาวแก้วกาญจน์ เสียงเสนาะ นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงส้นเท้า ด้วยสารสกัดธรรมชาติจากเปลือกกล้วยและเปลือกมะละกอ ที่มีประสิทธิภาพในการทํางานยับยั้งจุลินทรีย์ ปราศจากสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.ดวงฤทัย นิคมรัฐ และ ดร.ภัทริกา สูงสมบัติ เป็นที่ปรึกษาโครงการ

ดร.ดวงฤทัย นิคมรัฐ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพที่ใช้กับมนุษย์มักมีการเติมสารกันเสียเพื่อยับยั้งจุลินทรีย์และยืดอายุการใช้งาน แต่ข้อเสียคือก่อให้เกิดการระคายเคือง และเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงส้นเท้าจากเปลือกกล้วยและเปลือกมะละกอไร้สารเคมีกันเสีย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมสีเขียว (Green Environment) ให้ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และยังเป็นการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ของธรรมชาติเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยขั้นตอนการวิจัยเริ่มจากทำการสกัดหยาบโดยการต้มเปลือกกล้วยด้วย Mineral Oil และสารสกัดจากเนื้อกล้วย  เมื่อได้สารสกัดแยกชั้น ให้นำแต่ละชั้นมาทดสอบดูคุณสมบัติการอยู่ตัวในครีมทาส้นเท้า การเป็นพิษต่อเซลล์ จากนั้นทดสอบการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์  (Bacteria Fungi และ Yeasts) โดยวิธี Disk Diffusion และ Turbidity ในระยะเวลาที่เร่งเสมือน 1 ปี เสร็จแล้วทำการผสมครีมบำรุงส้นเท้าตามสูตรที่เตรียมไว้ และทดสอบความคงตัวของครีมเป็นอันเสร็จสิ้น จากการทดลองพบว่า สารสกัดจากเปลือกมะละกอสามารถนำมายับยั้งจุลินทรีย์ในกลุ่มของสารโปรติเอส และสามารถยืดอายุการใช้งานของครีมได้อย่างน้อย 1 เดือน และยังมีสรรพคุณในการช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น ช่วยขัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ และลดรอยแตกของส้นเท้าได้

ทั้งนี้หากชุมชนกลุ่มสมุนไพรใดสนใจนำไปพัฒนาต่อยอดให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ซึ่งนอกจากทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดขยะการเกษตรในชุมชน สอบถามเพิ่มเติมที่ ดร.ดวงฤทัย นิคมรัฐ โทรศัพท์ 08 1167 4241