เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566 ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มอบหมายให้ ผศ.ศรัทธา แข่งเพ็ญแข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กองพัฒนานักศึกษา นำทีมทูตวัฒนธรรม ผู้นำนักศึกษา สภาและองค์การนักศึกษา เข้าร่วมโครงการ 9 ราชมงคลสืบสานวัฒนธรรมไทย ครั้งที่ 13 และโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเครือข่ายประกันคุณภาพกิจกรรมนักศึกษา 9 มทร. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และ ตลาดน้ำห้วยสุครีพ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมนักศึกษา และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นสื่อกลางในการเชื่อมความสามัคคีความสัมพันธ์อันดี และสร้างความสามัคคีให้กับนักศึกษา ทั้ง 9 มทร. การพัฒนาเครือข่ายงานประกันคุณภาพกิจกรรมนักศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง และเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ต่าง ๆ ร่วมกัน
ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดการแสดง และกิจกรรมเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทย การดำเนินการในครั้งนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง มีแนวคิดในการเผยแพร่สืบสานวัฒนธรรมที่ดีงาม พร้อมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างเจตนคติที่ดีต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้แก่เยาวชน สร้างความรัก ความสามัคคี รวมทั้งเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแก่สาธารณชนต่อไป โดยกิจกรรมประกอบด้วย 1. การประกวดแข่งขันขับร้องเพลงลูกทุ่ง ประเภทบุคคลชายและบุคคลหญิง เพื่อแสดงความสามารถทางด้านการขับร้อง อนุรักษ์เพลงลูกทุ่งไทย โดยผลการแข่งขัน นางสาวอัฉริยา จินดาวงศ์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ราชมงคลพระนคร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดขับรองเพลงลูกทุ่ง ประเภทหญิง 2. กิจกรรมการประกวดขับร้องเพลงลูกทุ่ง ประเภททีม โดยวงดนตรีลูกทุ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมทุนการศึกษา และ 3. กิจกรรมการประกวด SHOW & SHARE การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีในการประกันคุณภาพมาใช้ในการจัดกิจกรรมนักศึกษา โดยทีมผู้นำนักศึกษาราชมงคลพระนคร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มาครองด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ภายในงานยังได้นำทูตวัฒนธรรม ผู้นำนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน ณ ชุมชนตะเคียนเตี้ยอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แบ่งออกเป็นฐานการเรียนรู้ผ้ามัดย้อมจากกากมะพร้าว ฐานการเรียนรู้การทำสบู่มะพร้าว ฐานการเรียนรู้การทำพวงมโหตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำนักศึกษาได้เรียนรู้และตระหนักในการอนุรักษ์มะพร้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้สู่ชุมชนและผลักดันสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดชลบุรี และกิจกรรมเทคนิคการทำบัวอบแห้ง ณ สถาบันบัวราชมงคลตะวันออก โดยมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการอนุรักษ์สายพันธุ์บัว การปลูก การดูแลรักษา และการใช้นวัตกรรมซิลิกาทรายเพื่ออบแห้งดอกบัว ให้คงสภาพสวยงามและสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ต่อไป