News

นศ.บริหารฯสุดเจ๋ง คว้าแชมป์นักวางแผนการตลาด โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 62

การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “วังหนับ” เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของกลุ่มชุมชนวังหนับอุทิศ เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ชุมชนวังหนับอุทิศ และธนาคารออมสิน ภายใต้การสนับสนุนจากกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น Plus ประจำปี 2562 เพื่อช่วยกลุ่มชาวบ้านสร้างความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า มีช่องทางการตลาดที่เปิดกว้าง ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นประธานเปิดงานโครงการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น ปี 2 พร้อมมอบรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการกลุ่มอาชีพชุมชนแม่บ้านอุตสาหกรรม วังหนับอุทิศ ให้กับ ทีม RMUTP.Bus Line และมอบประกาศนียบัตรให้กลุ่มองค์กรวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ภายในงานยังมีการเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ การประกวดการนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการย่อยออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มองค์กรชุมชน ณ คณะบริหารธุรกิจ ศูนย์พณิชยการพระนคร

ทั้งนี้ กลุ่มชุมชนวังหนับอุทิศ เป็นชุมชนชาวมุสลิม มีสมาชิกชุมชนประมาณ 128 ครัวเรือน มีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมและการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับกลุ่มแม่บ้านมีความถนัดเรื่องการเย็บปักถักร้อย จึงได้ร่วมกันตัดเย็บชุดจำหน่าย เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 15 คน โดยสินค้าที่วางจำหน่าย ได้แก่ ชุดปักลายลูกไม้ ชุดเสื้อผ้ามุสลิม ผ้าคลุมหัวฮิญาบ เป็นต้น แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ผลิตจำหน่ายตามคำสั่งซื้อ รวมถึงไม่มีความหลากหลาย และไม่เป็นที่ดึงดูดใจต่อลูกค้ามากนัก จึงทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงชุมชน ด้วยเหตุนี้ ทีม RMUTP.Bus Line นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงร่วมกันวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีความหลากหลาย รวมถึงการวางแผนการเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน โดยมี อาจารย์พลภัทร พลบูรณ์ และอาจารย์ชินพรรธน์ สิทธิกรชยาพงษ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาโครงการ

นางสาววรกมล ชานันโท หัวหน้าทีม RMUTP.Bus Line นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ กล่าวว่า ในกลุ่มมีสมาชิก 10 คน หลังจากลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน จึงนำปัญหาดังกล่าวมาวางแนวทางการดำเนินงานโดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1.สอบถามข้อมูลทั่วไป รายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์ เพื่อทราบปัญหาและความต้องการของชุมชน  2.การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ การจัดทำบัญชีเพื่อการบริหารรายได้ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และการเพิ่มศักยภาพในการจัดทำบัญชีภาคธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยี Accounting on cloud (Application: SME สบายใจ) เพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และทำความเข้าใจในรายละเอียดขั้นตอนกระบวนการจัดทำบัญชี โดยได้รับความร่วมมือจากสภาวิชาชีพบัญชีมาช่วยให้ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพ  3.จัดฝึกอบรมภาคปฏิบัติในหัวข้อ “การใช้เทคนิคการออกแบบลวดลายผ้า ปักฉลุ” และ “เทคนิคการเขียนแบบสำหรับการตัดเย็บเสื้อผ้า” โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มาเป็นผู้อบรมและสอนเทคนิคต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบลายผ้าฉลุ และลายปักผ้าให้มีความทันสมัย และเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น  4.การดูแลระบบการขายสินค้าบนสื่อออนไลน์แก่สมาชิกชุมชน ตรวจสอบการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ในช่วง 1-2 เดือน พร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติม และมอบข้อมูลที่มีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับชุมชน

นางสาววรกมล ชานันโท กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “วังหนับ” เพื่อการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของกลุ่มชุมชนวังหนับอุทิศ เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร  ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารออมสิน ทีมละ 60,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลา 1 ปี ในการเพิ่มยอดขายของกลุ่มชุมชนจากเดิมเพิ่มขึ้น 50 %  โดยสินค้าที่ทีมงานนำไปสอนในการสร้างอาชีพ ประกอบด้วย ที่นวดมือ หมอนอิง ผ้าคลุมไหล่ โดยผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นมีความหลากหลายสามารถใช้ได้กลับลูกค้าทุกกลุ่มวัย ทุกเชื้อชาติ  ทั้งนี้จากการติดตามผลผ่านทางกลุ่มไลน์ที่ทีมงานสร้างขึ้น พบว่ากลุ่มชุมชนสามารถเพิ่มยอดขายใน 1 เดือน จากยอดขาย 8,000 บาท เพิ่มเป็น 19,685 บาท คิดเป็น 246 % ของการทำโครงการ จึงทำให้กลุ่มสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ในการประกวดการนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการย่อยออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2562  “รู้สึกขอบคุณมหาวิทยาลัยฯ ชุมชน และธนาคารออมสิน ที่เปิดโอกาสให้ทีมงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในชุมชน ทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน และสามารถนำความรู้ในชั้นเรียนไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดชีวิตของคนในชุมชนต่อไป” นางสาววรกมล ชานันโท กล่าว

ด้าน หัวหน้าดูแลชุมชนวังหนับอุทิศ  กล่าวว่า รู้สึกอบอุ่นและดีใจที่น้อง ๆ นักศึกษามาช่วยให้ความรู้ในเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่าย สอนวิธีการใช้ Facebook  Instagram และ Line  และช่วยออกแบบพัฒนาโลโก้ แพคเกจจิ้ง และผลิตภัณฑ์ รวมถึงขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่มาให้ความรู้ในการใช้แอปพลิเคชั่น SME สบายใจ และการออกแบบลวดลายต่าง ๆ ให้กับทางชุมชน ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้ใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์นำไปใช้ได้จริงในการออกแบบลวดลายผ้า รวมถึงการออกแบบแบรนด์สินค้าและบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ของชุมชนแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในภาคครัวเรือนของตนและกิจการได้อย่างยั่งยืน