จากผลสำรวจของสมาคมเภสัชกรรม พบผู้สูงอายุจำนวนมากใช้ยาไม่ถูกต้อง สาเหตุมาจากปัญหาด้านสายตาจึงทำให้ไม่สามารถอ่านฉลากยาที่มีขนาดเล็กได้ รวมถึงบางรายมีปัญหาด้านความจำจึงทำให้ใช้ยาผิดหรือเกินขนาดซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ นายศราวุฒิ ไวยศิลป์ และนายกฤษฎา รักษาแดน นักศึกษาสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกันประดิษฐ์ตู้อ่านฉลากยาสามัญประจำบ้านอัตโนมัติ แบบอาร์เอฟไอดี (RFID) ควบคุมด้วยอาดุยโน่ (Arduino) โดยมีอาจารย์ภาวนา ชูศิริ เป็นที่ปรึกษาโครงการ สำหรับตู้อ่านฉลากยาอัตโนมัติมีคุณสมบัติช่วยลดปัญหาการหยิบใช้ยาของผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาทางสายตาให้สามารถรับประทานยาได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง รวมทั้งช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ยาให้เหมาะสมสำหรับการเก็บรักษาเพื่อคงอายุและคุณภาพ
นายศราวุฒิ ไวยศิลป์ กล่าวว่า ตู้อ่านฉลากยามีองค์ประกอบ 2 ส่วนในการทํางาน คือ ส่วนอาร์เอฟไอดี (RFID) ประกอบด้วยตัวส่ง และตัวอ่าน ตัวอ่านจะทําหน้าที่ในการบอกรหัสของตัวส่ง ซึ่งติดอยู่ที่ตัวยาและจะส่งรหัสที่อ่านไปยังส่วนที่สอง คือ บอร์ดอาดุยโน่ ซึ่งทําหน้าที่ในการประมวลผลเรียกข้อมูลเสียงจากฐานข้อมูล (DATABASE) โดยขั้นตอนการทำเริ่มจากนำตู้เย็นเพลเทียร์ (Peltier) ขนาดเล็กมาดัดแปลง จากนั้นเขียนโปรแกรมอาดุยโน่บรรจุชนิดยาและสรรพคุณ และนำไปติดตั้งบนตู้เย็นร่วมกับตัวอาร์เอฟไอดีสำหรับอ่านแท็กฉลากยา การใช้งานเพียงผู้ใช้นำแท็กที่ติดไว้บนขวดยามาสแกนบนอาร์เอฟไอดี เครื่องจะประมวลผลและส่งเสียงให้ทราบรายละเอียดว่าเป็นยาชนิดใด รักษาโรคใด โดยเบื้องต้นตู้อ่านฉลากยาสามารถเก็บข้อมูลยาสามัญประจำบ้านได้ 14 ชนิด ซึ่งจากการทดสอบการใช้งานพบว่า ตู้สามารถอ่านชื่อยาที่ระบุข้อมูลไว้ในโปรแกรมได้อย่างแม่นยำ
ด้านนายกฤษฎา รักษาแดน กล่าวว่า อาร์เอฟไอดี (RFID-Radio-frequency identification) เป็นวิธีการในการเก็บข้อมูลหรือระบุข้อมูลแบบอัตโนมัติ โดยทำงานผ่านการรับสัญญาณจากแท็กเข้าสู่ตัวส่งสัญญาณ ผ่านทางคลื่นวิทยุ ซึ่งแท็กของอาร์เอฟไอดีจะมีขนาดเล็กสามารถติดตั้งเข้ากับผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ได้ เมื่อตัวส่งสัญญาณส่งคลื่นวิทยุไปพบเจอแท็กนี้ สัญญาณจะถูกส่งกลับพร้อมกับข้อมูลที่เก็บไว้ในแท็ก จึงมักนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของฉลากบาร์โค้ด อย่างไรก็ตามตู้อ่านฉลากยาสามัญประจำบ้านอัตโนมัติเป็นเพียงตู้ต้นแบบ หากถูกนำมาต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์สามารถปรับเปลี่ยนตู้ให้ใหญ่ขึ้น บรรจุข้อมูลชนิดของยาได้มากขึ้น และในอนาคตคาดว่าจะให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มข้อมูลชนิดยาลงในเครื่องมือติดตั้งได้เองเมื่อเปลี่ยนหรือเพิ่มชนิดของยา