น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร เนื่องจากมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ถ้าหากได้รับน้ำน้อยเกินไปก็จะทำให้ไม่เจริญเติบโต รวมถึงการออกดอกผลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือหากได้รับน้ำมากเกินไปก็ทำให้พืชตายได้ จากปัญหาข้างต้นจึงทำให้นางสาวนพมาศ แววเพ็ชร์ฒ นายพีรพัฒน์ นาวีเสถียร และนายธวัชชัย จอมสาร นักศึกษาสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกันคิดค้นชุดอุปกรณ์ควบคุมระบบรดน้ำอัตโนมัติผ่านสมาร์ทโฟน ควบคุมระบบด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ เพื่อช่วยเกษตรกรเพิ่มความสะดวกในการให้น้ำพืชได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงควบคุมคุณภาพผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอาจารย์อนุชา ไชยชาญ เป็นที่ปรึกษาโครงการ
อาจารย์อนุชา ไชยชาญ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพในทุกภาคส่วน จึงคิดนำเทคโนโลยีมาประยุกต์เข้ากับงานเกษตรกรรม เพื่อช่วยเกษตรกรประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย เนื่องจากความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศ และการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอซึ่งเป็นจุดอ่อนของเกษตรกรไทย ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ รวมถึงการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในอนาคตทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนควบคุมการผลิต และเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับชุดอุปกรณ์ควบคุมระบบรดน้ำอัตโนมัติ ผ่านสมาร์ทโฟน เป็นการทำงานร่วมกัน 3 ส่วน คือ ระบบควบคุมการสั่งการเปิด-ปิดระบบน้ำ ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดินและอุณหภูมิ และแอพพลิเคชั่น App Blynk ซึ่งเป็นระบบสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งนี้หลักการประมวลผลสั่งให้มีการรดน้ำ ระบบจะพิจารณาจากความชื้นที่มีอยู่ในดินและเวลาตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในไมโครคอนโทรเลอร์ ซึ่งเมื่อค่าความชื้นในดินลดน้อยลงถึงเกณฑ์และเวลาที่ตั้งไว้ โปรแกรมจะสั่งงานรีเลย์ขับกระแสไฟไปให้โซลีนอยด์วาล์วทำงานเพื่อส่งจ่ายน้ำไปยังแปลงพืช และเมื่อทำการรดน้ำจนความชื้นในดินถึงค่าที่กำหนดระบบก็จะหยุดการทำงาน แต่หากกรณีที่ถึงเวลารดน้ำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ แต่เซนเซอร์วัดความชื้นในดินและอุณหภูมิในอากาศพบว่ายังมีความชื้นสมบูรณ์ ระบบก็จะไม่ทำการรดน้ำให้พืช หรือหากสภาพอากาศเกิดมีอุณหภูมิสูง ก็สามารถพ่นฝอยน้ำออกมา เพื่อลดอุณหภูมิในโรงเรือนได้เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะไม่ส่งผลเสียหายต่อพืชแล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า
“นับว่าเป็นนวัตกรรมทางเกษตรรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดเวลาในการดูแลพืชผักได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเกษตรกรก็สามารถดูแลสวนผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ที่สำคัญติดตั้งง่าย และต้นทุนต่ำ อีกทั้งเพื่อให้การใช้งานครอบคลุมหลากหลาย จึงได้ออกแบบกล่องควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์ให้สามารถประยุกต์ใช้กับงานเกษตรกรรมอื่นๆ ได้ด้วย อาทิ เครื่องพ่นหมอก สำหรับโรงเพาะเห็ด พัดลมไอน้ำ สำหรับโรงเลี้ยงไก่ เป็นต้น ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 085-047-0927” อาจารย์อนุชา ไชยชาญ กล่าว