Research

คหกรรมศาสตร์ฯ สร้างสรรค์งานปัก ด้วยนวัตกรรมแผ่นฟิล์มละลายน้ำ เพิ่มมูลค่าชิ้นงาน

นวัตกรรมทางสิ่งทอในปัจจุบันได้ก้าวล้ำเกินวัตถุประสงค์เพียงเพื่อ "นุ่งห่ม" หรือ "ความสวยงาม" แต่ยังมุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถในด้านประโยชน์ใช้สอย รวมถึงเทคโนโลยีที่แสดงถึงการสร้างสรรค์อันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ในการเพิ่มมูลค่า และสร้างโอกาสใหม่ โดยปัจจุบันมีการพัฒนาด้านสิ่งทอมากมาย ตั้งแต่วัตถุดิบ เส้นใย เทคโนโลยีการผลิต รวมถึงการตกแต่งสำเร็จ เพื่อตอบสนองต่อตลาด และตรงความต้องการของลูกค้าที่ต้องการความแปลกแตกต่างในการสร้างชิ้นงานที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการออกแบบและตกแต่งสิ่งทอ ที่เกี่ยวกับงานปักต่าง ๆ  โดยเฉพาะลูกไม้ ซึ่งศาสตร์ของการปักลูกไม้ เป็นงานที่ละเอียดอ่อน อาจทำด้วยมือ หรือจักรปักก็ได้ ส่วนด้ายที่ใช้ปัก อาจเป็นฝ้าย ลินิน ไหม ใยสังเคราะห์ บางครั้งนักออกแบบสมัยใหม่ทำลูกไม้ด้วยดิ้นทองแดงหรือเงินแทนเส้นด้าย นอกจากนี้ยังมีวัสดุตกแต่งอีกประเภทหนึ่งคือไหมพรม ซึ่งไหมพรมเป็นวัสดุที่จะนำมาเย็บตกแต่งบนผื่นผ้าค่อนข้างยาก เนื่องจากจะเกี่ยวกับตีนผีและฟันกระต่ายของจักรค่อนข้างง่าย หรือในบางกรณีเส้นไหมพรมจะหลุดลงไปเกี่ยวเฟืองของจักร จึงไม่ค่อยมีผู้นิยมนำมาตกแต่งมากนัก ทั้งนี้งานปักทุกแขนงล้วนอาศัยความละเอียดอ่อนและความชำนาญ แต่จากปัญหาที่พบคือ แผ่นรองปัก วัสดุสำคัญที่จะช่วยให้งานปักออกมาสวยงาม สมบูรณ์แบบ หากเลือกไม่เหมาะสมกับการใช้งาน ผ้า และด้ายแล้วอาจทำให้ลายปักผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น รวมถึงแผ่นรองปักบางชนิดทำให้ชิ้นงานที่ได้ดูแข็งกระด้าง หรือหากเป็นแผ่นรองปักแบบกระดาษ เมื่อนำไปซักทำให้เศษกระดาษหลุดปะปนออกมา  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทีมงานวิจัย จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ประกอบด้วย อ.อัชชา หัทยานานนท์ อ.ประพาฬภรณ์ ธีรมงคล อ.ณัฐชยา เปียแก้ว และ อ.ไตรถิกา พิชิตเดช จึงร่วมกันทำการศึกษาการใช้นวัตกรรมแผ่นฟิล์มสำหรับงานปัก เพื่อออกแบบและตกแต่งวัสดุสิ่งทอในเครื่องแต่งกาย เพิ่มความสวยงามและเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์

อ.อัชชา หัทยานานนท์ เปิดเผยว่า การศึกษาได้นำแผ่นฟิล์มรองปัก ซึ่งเป็นวัสดุที่ผลิตจากพอลิเมอร์ มีส่วนประกอบทางเคมีโพลิไวนิลแอลกอฮอล์ เป็นเทอร์โมพลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถย่อยสลายได้ โดยวิธีชีวภาพ  นอกจากนี้ยังสามารถละลายในน้ำได้ ซึ่งสามารถช่วยให้การปักจักรสะดวก นูนสวย แต่ไม่ทำให้ผ้าแข็งหรือหนากระด้างเหมือนแผ่นรองปักจักรทั่วไป และยังดึงออกง่ายกว่าการรองด้วยกระดาษ เมื่อปักเสร็จแล้ว และเมื่อต้องการใช้งานเครื่องแต่งกายนั้น สามารถซักได้ตามปกติ เพราะแผ่นฟิล์มจะทำปฏิกิริยาการสลายตัวของแผ่นฟิล์มกับน้ำ โดยการแช่น้ำอุ่น เพื่อให้ฟิล์มละลายประมาณ 15 นาที  และสามารถทำความสะอาดอย่างทั่วถึง ไม่มีคราบสกปรกบนวัสดุปัก

อ.อัชชา หัทยานานนท์ กล่าวว่า การวิจัยได้ทำการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรมแผ่นฟิล์ม จำนวน 3 ชิ้น คือ เสื้อเชิ้ต เสื้อคลุม กระโปรง โดยใช้วัสดุตกแต่งประเภทไหมพรม  ผลการวิจัยพบว่าวัสดุปัก มีความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของกระบวนการปักได้เป็นอย่างดี รวมถึงการออกแบบลายนูน สามารถช่วยให้เข็มไม่กระโดดขยับหรือหักขณะปักได้  ส่วนแผ่นฟิล์มรองปักที่ละลายน้ำ มีความยืดหยุ่นจึงทำให้ด้ายไม่ขาด ด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมแผ่นฟิล์มรองปักไม่มีผลข้างเคียงไม่เป็นพิษปราศจากมลภาวะและฟอร์มาลดีไฮด์ ส่วนประโยชน์ของลูกไม้ละลายน้ำได้คือมีความยืดหยุ่น ไม่หักพับง่าย หลังจากที่นำมาตัดแต่งเย็บเป็นชิ้นงานในเสื้อเชิ้ต เสื้อคลุม และกระโปรง ให้ความรู้สึกนุ่มนวล ราบรื่น ประกายแวววาว มีลายสามมิติ นับเป็นการเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์แฟชั่นสิ่งทอได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 062 650 9149