“การทอผ้า” ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตมาตั้งแต่บรรพการ ทุกครัวเรือนจะมีการทอผ้าเพื่อใช้สอยภายในครอบครัว และมีการถ่ายทอดกรรมวิธีการทอแก่สมาชิก จนสั่งสมเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นเสมือนมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ผ้าทอเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทย กรรมวิธีแต่ละท้องที่ แต่ละภูมิภาคก็จะมีความประณีต ละเอียดอ่อนและลวดลายบนผืนผ้าที่แตกต่างกันตามขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม โดยลวดลายที่สวยงามเกิดจากภูมิปัญญาของผู้ทอ สภาพแวดล้อมที่พบเห็นในธรรมชาติแล้วนำมาผสมผสานกัน ซึ่งผ้าทอถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเฉพาะการทอผ้าของชาวไทยวน สระบุรี
ในยุคโบราณผู้หญิงชาวไทยวนมีหน้าที่หลักในการทอผ้าไว้ใช้เองในครอบครัว เพื่อ 3 พิธีกรรมที่จะต้องประสบ ผืนแรกคือ ทอไว้ใช้ในงานแต่งงานของตัวเอง เพื่อเป็นผ้าไหว้แสดงความเคารพและขอขมาพ่อแม่สามีและญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย ผืนที่สอง เมื่อแต่งงานเรียบร้อยแล้ว ผ้าผืนต่อไปเป็นผ้าทอสำหรับมอบให้ลูกสาว หากมีลูกชายจะเป็นผ้าทอสำหรับปกหัวนาคเมื่อบวช และผ้าผืนสุดท้ายทอไว้สำหรับวางหน้าอกตอนตายหรือนุ่งไปด้วย เพื่อไปไหว้พระเกตุแก้วจุฬามณี
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเครื่องแสดงว่าชาวไทยวนมีความผูกพันธ์กับผ้าทอมาอย่างยาวนาน แต่ทั้งนี้ปัจจุบันชาวบ้านหันมานิยมใช้ผ้าทอจากเครื่องจักรแทนผ้าที่ทอด้วยมือ จึงทำให้งานหัตถกรรมผ้าทอของไทยซบเซาลง ดังนั้นเพื่อช่วยกันอนุรักษ์และส่งเสริมพัฒนาผ้าทอไทยให้คงอยู่ และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ดร. ก้องเกียรติ มหาอินทร์ ผศ.ดร. รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อ.นฤพน ไพศาลตันติวงศ์ ดร.ทวีศักดิ์ สาสงเคราะห์ ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ และอ.ชลธิชา สาลิกานนท์ จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลง และการดำรงอยู่ของผ้าซิ่นตีนจกไทยวน จังหวัดสระบุรี เพื่อศึกษาแนวทางในการอนุรักษ์งานหัตถกรรมทอผ้า และสืบทอดผ้าทอโบราณ เพื่อนำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคปัจจุบัน
ดร. ก้องเกียรติ มหาอินทร์ กล่าวว่า การวิจัยเรื่องนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบผ้าซิ่นตีนจกไทยวน สระบุรี รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงและการดำรงอยู่ของผ้าซิ่นตีนจกไทยวน สระบุรีในปัจจุบัน (พ.ศ.2560 – 2561) โดยใช้ทฤษฎีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมมาวิเคราะห์ โดยพื้นที่วิจัยคือ อำเภอเมืองและอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ประชากรในการวิจัยคือ ช่างทอผ้าซิ่นตีนจก ผู้ใช้ผ้าซิ่น และปราชญ์ท้องถิ่น ส่วนประเด็นการศึกษาคือ วัฒนธรรมการแต่งกายของไทยวนสระบุรี การส่งเสริมจากภาครัฐ รูปแบบผ้าซิ่นตีนจกไทยวนสระบุรี ช่างทอและการถ่ายทอดภูมิปัญญา
ดร. ก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า ชาวไทยวน สืบเชื้อสายมาจากเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะเหตุจากการสงคราม และได้สืบทอดเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน ในท้องที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เป็นอำเภอที่มีคนไทยวนอาศัยอยู่มากที่สุด มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์แบบล้านนา ไม่ว่าจะเป็นภาษา วิถีชีวิต อาหาร และคติความเชื่อ ในส่วนผ้าทอพื้นบ้านมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมามากกว่า 200 ปี วัฒนธรรมการแต่งกายยังคงการแต่งกายแนวอนุรักษ์ ในเฉพาะโอกาสพิเศษ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า ผ้าซิ่นตีนจกไทยวน สระบุรี ยังคงหลงเหลืออารยะธรรม ที่เห็นถึงหัตถกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตของชุมชน โดยทีมวิจัยได้ทำการศึกษาด้านการทอผ้าและผืนผ้าในด้านการดำรงอยู่ของผ้าซิ่นตีนจก สระบุรีในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมไทยวนที่ถูกกลืนกลาย พบว่ามีการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้า โดยช่างทอภูมิปัญญาพื้นถิ่น ซึ่งมีทั้งการทอแบบอนุรักษ์ด้วยวิธีการทอผ้าผืนใหม่ขึ้นมาจากการแกะลายผ้าซิ่นตีนจกโบราณที่มีเหลืออยู่ในชุมชน การใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ และสร้างกลุ่มผู้รักผ้าซิ่นตีนจกในออนไลน์ ส่วนผ้าซิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีการตั้งกลุ่มทอผ้า สำหรับทอขายในเชิงพานิชย์ ประกอบกับการสร้างตลาดชุมชน อันส่งผลต่อความเข้มแข็งของชุมชน โดยได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐมาโดยตลอด นับเป็นการเกื้อหนุนให้ชาวไทยวนเกิดความภาคภูมิใจ เกิดแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เกิดการก่อตั้งหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนสระบุรี การทอผ้าซิ่นตีนจกขึ้นมาใหม่จากต้นแบบ ที่แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมไทยวนสระบุรีที่ยังคงมีชีวิต