สีมีความสำคัญอย่างยิ่งในงานสิ่งทอไม่ว่าจะเป็นงานสิ่งทอระดับอุตสาหกรรม หรือระดับชุมชน นอกจากการผลิตสิ่งทอในด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว การย้อมสีสิ่งทอยังถูกให้ความสำคัญทั้งกระบวนการผลิตสีและเคมีที่ใช้ย้อม กระบวนการย้อม จนกระทั้งกระบวนการบำบัดน้ำสีเหลือทิ้งจากการย้อม ทุกกระบวนการควรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันการบริโภคสิ่งทอมีการให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัย เช่น มาตรฐาน Eco-Tex Standard (Öko-Tex standard 100 ) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ให้การรับรองผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค โดยสถาบันสิ่งทอภาคพื้นยุโรป ตัวอย่างของสิ่งอันตรายต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการย้อมสีสิ่งทอ ได้แก่ การใช้สีย้อมที่มีสารก่อมะเร็ง (Banned Carcinogenic Dyes) ได้แก่สีย้อมที่ประกอบด้วยหมู่ให้สีเอโซ (AZO) เป็นต้น การใช้สีย้อมที่ก่อให้เกิดความระคายเคือง (Allergenic Dyes) การใช้สีย้อมที่ไม่มีความคงทน ตกสีง่าย (Loose Dye) จากจุดนี้เองจึงเกิดความสนใจในการนำเอาสีธรรมชาติมาใช้แทนสีสังเคราะห์ในการย้อมสิ่งทอมากขึ้น เนื่องจากมีความเป็นพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตามการย้อมสีธรรมชาติสีพวกนี้ส่วนมากเกาะติดบนเส้นใยได้น้อย แต่สามารถเกาะติดได้ดีขึ้นเมื่อใช้สารอื่นช่วย เรียกว่าสารช่วยติด สารช่วยย้อม หรือมอร์แดนท์ ซึ่งเป็นสารเคมีหรือสารจากธรรมชาติที่ทำให้สีธรรมชาติตรึงอยู่บนเส้นใย โดยมอร์แดนท์จะรวมตัวกับโมเลกุลสีและรวมตัวกับโมเลกุลของเส้นใยทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ละลาย มอร์แดนท์ที่นิยมมากและมักพบในงานวิจัยเพื่อพัฒนาความคงทนของสีต่อการซักของสีธรรมชาติ คือ การใช้เกลือของโลหะหรือกึ่งโลหะ ซึ่งโลหะหนักดังกล่าวเป็นสารที่มีข้อกำหนดระดับของการเจือปนที่เป็นไอออนในสีย้อมตามหลักเกณฑ์ของฉลากสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป (EU flower)
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ดร.กาจญนา ลือพงษ์ ดร.ไพรัตน์ ปุญญาเจริญนนท์ และอาจารย์วิโรจน์ ยิ้มขลิบ ทีมวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ทำการศึกษาการพิมพ์สีธรรมชาติจากครั่งบนผ้าฝ้ายทอและผ้าพอลิเอสเตอร์โดยไม่ใช้สารมอร์แดนท์ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง ดร.กาจญนา ลือพงษ์ ตัวแทนทีมวิจัยเล่าว่า ครั่ง คือแมลงจำพวกเพลี้ย ครั่งจะขับสารชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนยางหรือชันออกมา ซึ่งสารที่ขับถ่ายออกมานี้เรียกว่า "ครั่งดิบ" สารนี้มีสีแดงม่วง ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองแก่ ซึ่งมนุษย์ได้นำมาใช้ประโยชน์กันนานกว่า 4,000 ปี การใช้ประโยชน์จากครั่งหรือสีแดงจากครั่ง มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ในช่วงแรกนิยมนำไปใช้ในงานศิลปกรรม และงานช่างฝีมือ มีการศึกษาค้นคว้าวิธีการแยกสีจากครั่งมาใช้ในการทาสี การทำพรมปูพื้น และใช้ในการทอผ้า ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ศึกษากระบวนการติดสีด้วยการย้อมและพิมพ์ทางสิ่งทอ พบว่าสีจากครั่งจะติดได้ดีบนเส้นใยประเภทขนสัตว์ เส้นใยไหม หนังฟอก แต่ยังไม่พบการศึกษาว่าครั่งสามารถติดสีบนเส้นใยสังเคราะห์ เช่น เส้นใยพอลิเอสเตอร์ ส่วนเส้นใยเซลลูโลสการติดนั้นจะต้องอาศัยมอร์แดนท์ซึ่งเป็นเกลือของโลหะหนักเข้ามาช่วยในการปรับปรุงคุณสมบัติการยึดติด แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการใช้เกลือของโลหะหนักจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นการวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการศึกษาที่มีความแตกต่างจากกระบวนการศึกษาเดิมที่ศึกษาการติดสี และพบว่าครั่งจะสามารถติดสีได้ดีเฉพาะบนผ้าไหม ถ้าต้องการให้ติดสีบนเส้นใยประเภทอื่นจะต้องใช้สารมอร์แดนท์ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นโลหะ เช่น คอบเปอร์ (Cu), ตะกั่ว (Pb), และ อลูมิเนียม (Al) แต่ในการวิจัยนี้จะศึกษาปัจจัยและองค์ประกอบที่ส่งผลต่อการติดสีครั่งบนเส้นใยฝ้ายและเส้นใยพอลิเอสเตอร์ โดยไม่อาศัยสารมอร์แดนท์ เพื่อเพิ่มช่องทางการใช้งานของครั่งบนเส้นใยอื่นๆ และลดการใช้สารเคมีที่จะส่งผลต่อการปนเปื้อนของโลหะหนักไปยังสภาพแวดล้อม ผลผลิตหลักที่ได้จากการศึกษาสามารถนำไปต่อยอดด้านรูปแบบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย สร้างโอกาสทางการผลิตให้แก่กลุ่มผู้สนใจทั้งทางด้านหัตถกรรม และศิลปะบนผืนผ้า ส่วนสำหรับการพิมพ์เป็นหนึ่งในเทคนิคการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เนื่องจากสามารถกำหนดลวดลาย และลักษณะเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ได้